วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

Revenue Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 6

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้เป็นเรื่องของ revenue analysis ซึ่งจะคุยในประเด็นเรื่องการรับรู้รายได้ ซึ่งมีเกณฑ์การรับรู้รายได้สองข้อ ถ้าพูดแบบบ้านๆก็คือ 1) ลูกค้ารับสินค้าไปแล้วนะ 2) ลูกค้าจะจ่ายเงินแน่ๆ แต่ทีนี้ก็มีหลายๆเคสที่ควรจะพิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อยลงไป เช่น
(1)     ถ้าลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าล่ะ จะรับรู้รายได้เลยได้มั้ย
กรณีนี้เช่นพวกนิตยสารที่ลูกค้าจ่ายค่าสมัครล่วงหน้า ประกันที่ลูกค้าจ่ายค่าประกันไปก่อนแล้วเกิดไรขึ้นค่อยมาเคลม หรือค่าประกันสินค้าที่เราจ่ายเพื่อเพิ่มระยะเวลาประกัน(เช่นจากหนึ่งปีเป็นสามปี เป็นต้น) อันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เกณฑ์ข้อสองเพราะเราได้ตังค์แล้ว แต่อยู่ทีเกณฑ์ข้อหนึ่งคือ ลูกค้ายังได้สินค้าไม่ครบ100%นะ จะรับรู้รายได้เต็มๆเลยก็กระไรอยู่ หรืออาจจะเกิดต้นทุนเพิ่มเติมในตอนหลังถ้าลูกค้าไม่พอใจในสินค้าหรือบริการของเรา (เช่นอาจจะต้องให้บริการเพิ่มหรือต้องจ่ายชดเชยให้ลูกค้าผู้มีพระคุณปานประหนึ่งพระเจ้า ไรงี้) เพราะอย่าลืมว่าเมื่อรับรู้รายได้ไปแล้ว ก็ต้องมีต้นทุนที่ match กับรายได้ที่รับรู้ไปแล้วด้วย
ทีนี้ ถ้าจะรับรู้รายได้เลยเมื่อได้รับเงินก็เร็วไปนิ้ด จะรับรู้รายได้หลังจากครบกำหนดเวลาแล้วก็ช้าไปหน่อย โดยส่วนใหญ่ก็เลยแบ่งการรับรู้รายได้ไปตามช่วงเวลา (เช่นรับรู้รายได้ค่าสมัครนิตยสารรายปีออกเป็น 12 เดือนเท่าๆกัน) ส่วนต้นทุนก็ประมาณการเอาตามความเหมาะสมละกัน (อาจจะดูจากตัวเลขในอดีตเป็นต้น)

(2)     ถ้าสินค้าหรือบริการมีอายุใช้งานได้นานหลายๆปีล่ะ จะรับรู้รายได้ยังไง
กรณีนี้เช่นพวกสัญญาก่อสร้างหรือตั๋วเครื่องบินแบบที่มีสะสมไมล์ ความเสี่ยงในกรณีนี้คือ (1) ลูกค้าไม่พอใจในบริการเลยโวยวายให้ทำงานเพิ่มหรือขอเงินชดเชย และ (2) ต้นทุนสูงกว่าที่ประเมินไว้ (เช่นต้นทุนวัสดุก่อสร้าง)
โดยทั่วๆไปถ้าเป็นงานก่อสร้างก็จะรับรู้รายได้ตามเปอร์เซ็นต์ของงานที่ทำเสร็จแล้ว โดยดูจากเปอร์เซ็นต์ของต้นทุนที่ใช้ไปต่อประมาณการต้นทุนทั้งหมด(จะดีเหรอ)ถ้า(กูว่าละ)สามารถประมาณการต้นทุนทั้งหมดและเปอร์เซ็นต์ของงานที่ทำเสร็จได้อย่างใกล้เคียง แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่รู้งานจะเสร็จเมื่อไหร่(เช่นงานก่อสร้างภาครัฐที่อาจมีการประท้วงโน่นนี่นั่น) ก็จงใช้วิธีรับรู้รายได้หลังจากงานทั้งก้อนเสร็จแล้ว(ซวยเลย)
แล้วถ้าเป็นตั๋วเครื่องบินแบบสะสมไมล์ล่ะ ไมล์ที่ลูกค้าสะสมไว้ก็เป็นต้นทุนอย่างนึงเหมือนกัน(มัน เอ๊ย ท่านลูกค้าจะมาบินฟรีเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) อันนี้เค้าให้เลือกได้สองแบบคือ (1) คิดซะว่าลูกค้าซื้อตั๋วสองใบคือใบแรกนั่งแน่ๆ กับอีกใบนึงที่อาจจะนั่งตอนหลัง(จากไมล์สะสม) ดังนั้น รับรู้รายได้เป็นสองขยัก(งงๆนะ ว่ามั้ย) หรือ (2) คิดซะว่าไมล์สะสมเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มในการทำการตลาด แล้วก็ประมาณการต้นทุนนั้นซะ(เออ อันนี้เข้าใจง่ายหน่อย)

(3)     ถ้าสินค้าขายไปโดยที่ผู้ขายมีแอบเหลือสิทธิ์ไว้บ้าง(ขายแบบกั๊กๆยังไงไม่รู้)
อันนี้เช่นพวกสัญญาเช่าซื้อ(ที่มีมูลค่าซาก) หรือพวกfactoringที่ขายinvoiceให้ธนาคาร แต่ถ้าธนาคารเก็บตังค์ไม่ได้จะต้องรับซื้อinvoiceคืนนะเธอ(ประมาณนี้มั้ย) อันนี้มันเป็นโซนเทาๆว่า ตกลงนี่เช่าซื้อหรือเช่าเฉยๆนิ และตกลงนี่ขายหรือว่ากู้เงินโดยเอาinvoiceเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนิ คำตอบอยู่ที่ว่าความเสี่ยงส่วนใหญ่ตกอยู่กับใครนะฮ้าฟ
กรณีของ factoring จะมองว่าเป็นการขายก็ต่อเมื่อสิทธิ์และความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงไปอยู่ที่ธนาคารที่ซื้อinvoiceนั้นไปแล้ว โดยรายละเอียดคือ (1) ผู้ขายสละสิทธิ์ทุกประการของ invoice นั้น 2) ผู้ขายสามารถประมาณการต้นทุนอันเกิดจากลูกหนี้ของ invoice นั้นชักดาบหรือจ่ายตังค์ก่อน(ทำให้ได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คิด) และ 3) ธนาคารที่ซื้อ invoice ไปห้ามเอามาขายคืนถ้าเก็บตังค์ไม่ได้
ส่วนประเด็นของเช่าซื้อคือมันขายหรือมันเช่านิ ถ้าขายก็หมายความว่าสินค้านั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้า แต่ถ้าเช่าก็หมายความว่าสินค้านั้นเป็นทรัพย์สินของผู้ขาย ผู้ซื้อจริงๆแล้วเป็นแค่มาเช่าใช้งานเฉยๆ อันนี้อาจจะพูดได้ว่าทั้งสองฝ่ายอยากใช้ประโยชน์(คนขายอยากขาย คนซื้ออยากเช่า)แต่ไม่อยากได้ เพราะถ้าได้มาเป็นทรัพย์สิน Equity มันจะเยอะ ROE มันจะต่ำ อันนี้เกณฑ์บัญชีกำหนดไว้ว่าถ้าเงื่อนไขต่อไปนี้อันใดอันหนึ่งเป็นจริงถือว่าเป็นการขายล่ะ คือ (1) ผู้ซื้อได้สินค้านั้นไปเมื่อครบสัญญาเช่า (2) ผู้ซื้อมีสิทธิ์ซื้อสินค้านั้นในราคาโคตรถูกเมื่อครบสัญญาเช่า (3) สัญญาเช่านานจนสินค้านั้นเกือบหมดอายุการใช้งานแล้ว (4) present value ของสัญญาเช่าซื้อเกือบจะเท่ามูลค่าสินค้านั้นแล้ว ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ โดยสรุปคือ ผู้ซื้อแทบจะใช้ประโยชน์สินค้านั้นจนหมดแล้วล่ะ จะกระมิดกระเมี้ยนมาบอกว่าเช่าไปทำไมอีก
กรณีข้างบนนี้เค้าเรียกว่า financial lease แต่ถ้าไม่เข้ากรณีนี้ถือเป็นเช่า เค้าเรียกว่า operating lease อันนี้ผู้ขายก็รับรู้รายได้เป็นค่าเช่า สินค้าถือเป็นสินทรัพย์ของผู้ให้เช่า ส่วนต้นทุนก็คือค่าเสื่อมราคาของสินค้านั้น

(4)     ถ้าผู้ขายให้สินเชื่อกับผู้ซื้อด้วยล่ะ
อันนี้ตรงข้ามกับข้อหนึ่งและข้อสองคือ ประเด็นอยู่ที่เกณฑ์การรับรู้รายได้ข้อหลังคือ ลูกค้าจะจ่ายเงินแน่ๆใช่มั้ย จริงนะ ชัวร์นะ ไม่ชักดาบนะ ไม่เล่นมุข"ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"นะ อันนี้ก็ต้องดูว่าบริษัทบริหารลูกหนี้ได้ดีแค่ไหน ประมาณการหนี้สงสัยจะสูญได้ใกล้เคียงความจริงมั้ย ลูกค้าวางเงินดาวน์เยอะพอที่จะกัดฟันผ่อนต่อจนจบหรือเปล่า

(5)     ถ้าผู้ขายให้ผู้ซื้อคืนสินค้าได้ล่ะ
อันนี้คือพวกที่ขายของแบบไม่พอใจยินดีคืนเงิน กรณีนี้ปกติก็จะรับรู้รายได้เต็มจำนวน แล้วประมาณการเรื่องการคืนสินค้าโดยดูจากตัวเลขในอดีตเอา(ซึ่งมันก็ควรจะใกล้เคียงถ้าไม่ซวยเอาซะก่อนนะ) แต่ถ้าไม่สามารถประมาณการได้ก็จงรับรู้รายได้หลังจากหมดช่วงคืนสินค้าแล้ว(ซึ่งก็นะ ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยก็ต้องประมาณการได้เอาไว้ก่อนมั้ย จะได้รับรู้รายได้ไวๆ)


โดยสรุปคือ 5 เคสข้างบนนั้น บริษัทต้องทำการประมาณการในหลายๆอย่างเพื่อให้ตัวเลขในงบการเงินใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นจุดวัดใจล่ะว่าประมาณการพวกนั้นจะเชื่อถือได้แค่ไหน ก็เป็นหน้าที่ที่เราๆท่านๆต้องมาวิเคราะห์กัน

บทต่อไปเป็นเรื่องของ Expense Analysis นะฮ้าฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น