วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Expense Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 7

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้เป็นเรื่องของExpense Analysis ซึ่งเกี่ยวกับงบการเงินในส่วนของค่าใช้จ่าย ซึ่งเราจะบันทึกภายใต้เกณฑ์การmatchingและconservatism แจกแจงเป็น3กรณีย่อยๆคือ
(1) ถ้าเราสามารถmatchค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่เกิดขึ้นในงวดนั้นได้ก็บันทึกซะในงวดเดียวกัน ตัวอย่างง่ายๆก็เช่นต้นทุนในการผลิตหรือซื้อสินค้ามาขายกับรายได้ของสินค้า
(2) ค่าใช้จ่ายซึ่งจับmatchกับรายได้ตรงๆไม่ได้ แต่เป็นค่าใช้จ่ายรวมๆที่เกิดขึ้นระหว่างงวด เช่นค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด ก็ให้บันทึกซะในงวดนั้นแล
(3) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ เช่นสินค้าคงคลังที่ล้าสมัยขายไม่ได้แล้ว หรือสินค้าพวกเนื้อหรือผักที่เน่าเสียต้องทิ้งไป พวกนี้ก็บันทึกซะในงวดที่มันเกิดขึ้น

ประเด็นที่จะเกิดขึ้นเมื่อรับรู้ค่าใช้จ่ายก็ได้แก่
(1)     ถ้าเราซื้อสินทรัพย์เข้ามาแล้วมันใช้ประโยชน์ได้ข้ามปีข้ามชาติ จะบันทึกค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์นั้นยังไง
อันนี้เกณฑ์บัญชีบอกว่า ถ้ามั่นใจว่าสินทรัพย์นั้นมีอายุการใช้งานที่แน่นอน ก็เอาค่าใช้จ่ายในการได้สินทรัพย์นั้นมากระจายตามจำนวนปีแล้วตัดจ่ายเอาซะ(เป็นค่าเสื่อมราคา/ค่าตัดจำหน่ายก็ว่าไป) แต่ถ้าไม่ชัวร์ก็ให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อนไปซะทีเดียวเลย ฟังดูเหมือนง่าย แต่ทีนี้มันก็ต้องตั้งสมมุติฐานในหลายๆเรื่องเช่น อายุการใช้งานจะกี่ปีดีล่ะ แล้วหลังจากหมดอายุการใช้งานแล้ว จะมีมูลค่าซากเท่าไหร่ดีล่ะ(ประมาณว่าหมดอายุการใช้งานแล้วยังเอาไปชั่งกิโลขายต่อได้) แล้วจะตัดจ่ายยังไงดีล่ะ (จำนวนเงินเท่าๆกันทุกปี หรือจะคิดเป็น%ต่อมูลค่าที่เหลืออยู่ หรืออื่นๆ) ซึ่งอายุการใช้งานที่ประมาณการก็ควรจะสอดคล้องกับกลยุทธของบริษัทด้วยนะ ตัวอย่างในหนังสือเช่นสายการบินเดลต้าที่ตั้งอายุการใช้งานเครื่องบินไว้ 25 ปี ในขณะที่สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตั้งไว้แค่ 10 ปีก็เพราะสายการบินสิงคโปร์มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ป๋ากว่า ยอมจ่ายได้ เลยใช้เครื่องบินใหม่กว่า แต่สายการบินเดลต้ามีกลุ่มลูกค้าเป็นคนที่เค็มกว่า ยอมจ่ายถูก ห่วยหน่อยก็ได้ เลยใช้เครื่องบินเก่าๆได้ อะไรประมาณนี้
ยังมีเรื่องของค่าความนิยมอันเกิดจากเราไปซื้อบริษัทอื่นมาในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ประเมินได้ (คือยอมจ่ายแพงเพราะเรารวยเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในระยะยาว อันนี้เกณฑ์การบัญชีจะแตกต่างกันไปเพราะความชัดเจนเรื่องประโยชน์ในระยะยาวมันคลุมเครือกว่าพวกโรงงานหรือเครื่องจักร บางที่ก็ให้ตัดจ่ายทั้งก้อน บางที่ก็ให้ตัดจำหน่ายข้ามปีข้ามชาติได้ บางที่ก็ให้บันทึกเป็นสินทรัพย์ไปเลยแล้วค่อยตัดเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดด้อยค่า ในความเป็นจริงแล้วการซื้อบริษัทอื่นเข้ามาแล้วจะเกิดประโยชน์หรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับว่าบริษัทผู้ซื้อประเมินมูลค่าได้แม่นแค่ไหน ต่อรองเก่งแค่ไหน ซื้อเค้ามาแล้วรวมกันได้เนียนมั้ย(หรือแทนที่จะทำงานด้วยกันดีๆกลับมาทะเลาะตบตีกันให้วุ่นวายมั้ย) และใช้ประโยชน์เค้าได้คุ้มค่าหรือไปทำลายมูลค่าของเค้าหรือเปล่า(เช่นไปยุ่มย่ามก้าวก่ายจนวัฒนธรรมองค์กรหรือวิธีการทำงานดีๆที่เราอยากได้นั้นพังพินาศไปหมดสิ้น) เรื่องเหล่านี้มันก็ดูยากอยู่ แต่จากการวิจัยแล้ว ส่วนใหญ่จะทำหน้าใหญ่ใจโต จ่ายแพงเกินจริงทั้งนั้น
อีกกรณีนึงคือพวกค่าใช้จ่ายในการทำR&D ซึ่งจริงๆแล้วถึงแม้ประโยชน์มันจะไม่แน่นอน(งานวิจัยบางอันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหรืออาจจะขายไม่ได้) แต่ถ้าวิจัยแล้วโดน เกิดขายได้ขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาวเหมือนกัน อันนี้เกณฑ์บัญชีส่วนใหญ่จะบังคับให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายเลย แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่นถ้าเป็นงานวิจัยที่ซื้อเค้ามาให้บันทึกเป็นสินทรัพย์ก่อนแล้วค่อยตัดจ่ายได้(คงคิดว่ามันใช้งานได้แน่ๆละมั้ง) หรือถ้าเป็นงานพัฒนาซอฟต์แวร์ก็อนุญาตให้บันทึกเป็นสินทรัพย์แล้วตัดจำหน่ายได้ อะไรทำนองนี้
เรื่องค่าใช้จ่ายในการโฆษณาก็ตกชะตากรรมเดียวกับR&D คือถึงแม้จะเกิดประโยชน์(เป็นการสร้างแบรนด์)ให้บริษัทในระยะยาว แต่เนื่องจากประโยชน์นั้นวัดเป็นตัวเงินไม่ได้แน่ชัด ส่วนใหญ่ก็เลยโดนบังคับให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปทั้งก้อนเช่นกัน
(2)     ค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่สามารถระบุเวลาและตัวเงินแน่นอนได้ ขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่นพวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน จะบันทึกยังไง
ส่วนใหญ่ก็ประมาณการเอาแล้วก็ตัดจำหน่ายอ่ะนะ ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง(แน่ล่ะนะ ไม่ใช่หมอดูอีทีนิ) แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่บันทึกอะไรเลยแล้วมาเซอร์ไพรส์กันตอนหลังล่ะนะ

(3)     ค่าใช้จ่ายบางอย่างประเมินมูลค่าได้ยาก จะบันทึกยังไง
เช่นต้นทุนของสินค้า(ที่นึกว่าจะง่าย)ก็มีประเด็นอีก เช่นถ้าซื้อเข้ามาหลายๆล็อตด้วยราคาต่างกัน เวลาขายจะใช้ราคาไหนเป็นต้นทุน เพราะมันจะมีผลกับตัวเลขกำไรโดยตรง หรือถ้าผลิตสินค้าเอง ล็อตที่ผลิตเยอะก็จะมีต้นทุนต่ำกว่าล็อตที่ผลิตน้อย ในกรณีที่เรารู้ต้นทุนของสินค้าแน่ชัด เพราะสินค้าเช่นพวกรถยนต์มีรหัสที่ทำให้สามารถระบุได้ว่าซื้อเข้ามาเมื่อไหร่หรือผลิตล็อตไหน อันนี้ก็ไม่มีประเด็น แต่ถ้าไม่สามารถระบุต้นทุนได้ชัดเจน ก็ให้ตั้งสมมุติฐานไปเลยว่าจะคิดต้นทุนแบบFIFOคือคิดซะว่าเอาอันที่ซื้อ/ผลิตก่อนขายออกไปก่อน หรือจะแบบLIFOคือเอาคิดซะว่าเอาอันที่ซื้อ/ผลิตทีหลังขายออกไปก่อน (ป.ล.ว่าอันนี้เป็นแค่วิธีคิดในงบการเงินนะครับ ไม่ได้เกี่ยวว่าตอนทำงานจริงต้องไปหยิบของเก่าหรือของใหม่มาขาย ขืนทำงั้นจริงนี่วุ่นวายตายเลย) สองวิธีนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เพราะปกติแล้วต้นทุนของสินค้าที่ผลิตทีหลังมักจะสูงกว่าด้วยผลของเงินเฟ้อ ดังนั้น ถ้าคิดแบบFIFOจะได้กำไรมากกว่า(เพราะต้นทุนสินค้าในอดีตมันต่ำ แต่ขายราคาปัจจุบัน บิดเบือนงบการเงินอีก) แต่มูลค่าสินค้าคงคลังจะใกล้เคียงความจริงกว่า แต่ถ้าคิดแบบLIFOก็กลับข้างกัน หรือจะตัดสินใจใช้ทางเลือกที่3คือหาต้นทุนเฉลี่ยของแต่ละงวดเลยก็ไม่มีใครว่า อันนี้ก็แล้วแต่จะกำหนด สำคัญคืออย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาละกัน
ป.ล.ขำๆ มีแบบที่สามด้วยเรียกว่าFISH ย่อมาจาก First In Still Here คือมันขายไม่ออก 555
stock optionก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในกรณีนี้ เนื่องจากมันเป็นการให้สิทธิ์ผู้บริหารซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ถ้าผู้บริหารทำงานดี บริษัทได้กำไรเยอะ ราคาหุ้นขึ้นสูงกว่าราคาoption ผู้บริหารก็ซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่าตลาด ก็จะได้กำไรส่วนต่างนั้นไป ก็ถือเป็นการให้รางวัลผู้บริหารตามความสามารถอ่ะนะ แต่ทีนี้ก็มีปัญหาว่าบริษัทจะมีต้นทุนหรือเปล่าในกรณีนี้(ก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงินนี่นะ) แล้วถ้ามีจะบันทึกเมื่อไหร่และเท่าไหร่ดี คำตอบคือให้คิดต้นทุนส่วนต่างของราคาหุ้นในตลาด(หรือfair valueของหุ้นก็ได้ สุดแท้แต่จะหามายังไง)กับราคาซื้อของoption แล้วตัดจำหน่ายต้นทุนนั้นตลอดอายุของoptionครับ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(4)     การด้อยค่าของสินทรัพย์ จะประเมินยังไง
ปกติการบันทึกสินทรัพย์จะยึดหลักconservatism คือถ้ามันด้อยค่าให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นห้ามบันทึกเป็นรายได้(อ้าว) ทีนี้เรารู้ได้ไงว่ามันด้อยค่าแล้วและเท่าไหร่ อันนี้ก็แล้วแต่ผู้บริหารจะเห็นสมควรเลยครับ แต่ก็มีบ่อยๆที่บริษัทขาดทุนครั้งใหญ่ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ประมาณการสินทรัพย์ให้มันด้อยค่าไปด้วยกันเลยละกัน (ขาดทุนซะให้คุ้ม) เผื่องวดหน้าพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ก็จะดูหวือหวาน่าซื้อดี
ข้างบนนั่นเป็นเรื่องของสินทรัพย์ในการดำเนินงานเช่นพวกเครื่องจักรไรงี้ ส่วนสินทรัพย์ทางการเงินก็มีด้อยค่าเหมือนกัน เช่นพวกหุ้นที่ถือเอาไว้นี่เห็นชัด ราคาหุ้นตกก็ด้อยค่าแล้ว หรือพวกพันธบัตรนั่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป พันธบัตรที่เราถืออยู่ก็ด้อยค่า(เพราะมีพันธบัตรออกใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า) อันนี้จะบันทึกด้อยค่าหรือเปล่าก็ขึ้นกับเจตจำนงในการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ วิธีการบันทึกก็จะแตกต่างกันไป เช่นว่าถ้าถือแทนเงินสดและกะจะขายได้ทุกเมื่อก็ให้บันทึกทั้งrealizedและunrealized gain/loss ถ้าถือแบบเผื่อขาย(available for sale)ก็ให้บันทึกrealized gain/lossในงบกำไรขาดทุนและunrealized gain/lossในรายได้อื่นๆ หรือถ้าตั้งใจจะถือจนครบอายุ(hold to maturity)ก็ให้บันทึกเป็นราคาทุนและrealized gain/lossในงบกำไรขาดทุน (ว่าแต่ว่าเกณฑ์บัญชีเรื่องนี้มันเปลี่ยนหรือยังนะ ลองเช็คกันเอาเองแล้วบอกด้วยถ้ามีเปลี่ยน)
ก็เป็นอันจบเรื่องค่าใช้จ่ายแต่เพียงเท่านี้ สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า การประมาณการพวกนี้ก็เป็นจุดวัดใจเพราะบริษัทมีข้อมูลวงในที่สามารถประเมินให้ใกล้เคียงความจริงได้ แต่ก็มีแรงจูงใจหลายๆอย่างให้ทำตัวเลขหลอกกันได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายบางอย่างที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาวให้บริษัทได้ แต่ถูกเกณฑ์ทางบัญชีบังคับให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน เช่นพวกค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย R&D หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด(สร้างแบรนด์ซึ่งจะช่วยให้ขายสินค้า/บริการได้ในระยะยาว แต่กี่ปีไม่รู้ล่ะ) พวกนี้ก็ทำให้งบการเงินสะท้อนภาพที่คลาดเคลื่อนของบริษัทได้ ดังนั้น พึงใช้ความระมัดระวังในการอ่านงบการเงิน (จริงๆก็สรุปแบบนี้ได้เหมือนกันทุกบทแหละ)

บทต่อไปเป็นส่วนสุดท้ายของ Accounting Analysis แล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Entity Accounting Analysis หลังจากนี้เราจะไปส่วนที่หวือหวาน่าสนใจกว่าคือเรื่อง Financial Analysis และ Valuation เย้ๆๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น