วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Entity Accounting Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 8

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้ว่าด้วยเรื่องของไอ้คำว่าบริษัทที่เราๆงัดแงะแกะงบกันมาจนถึงตอนนี้เนี่ย ขอบเขตของมันอยู่แค่ไหนบ้าง เอาแค่บริษัทเดี่ยวๆหรือรวมบริษัทย่อย บริษัทร่วมเข้ามาด้วย แล้วอันไหนถือเป็นบริษัทย่อย อันไหนถือเป็นบริษัทร่วม แล้วถ้ารวมจะรวมอย่างไร
เริ่มจากเรื่องบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมก่อน ปกติจะถือตามเกณฑ์ว่า ถ้าเราถือหุ้นของบริษัทนึงเกิน 50% เราก็จะมีอำนาจควบคุมบริษัทนั้นเด็ดขาด(ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้) ก็ให้ถือว่าเป็นบริษัทนั้นเป็นบริษัทย่อยของเรา แต่ถ้าถือหุ้นของบริษัทนั้นระหว่าง 20-50% เราอาจจะไม่ได้มีอำนาจควบคุมเด็ดขาด แต่อาจจะใช้อำนาจมืดจูงจมูกได้บ้าง อันนี้ก็ให้ถือว่าเป็นบริษัทร่วม แต่ถ้ามีหุ้นต่ำกว่า20%อีกก็ไม่ต้องมาพูดกัน
ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ว่า(แน่ล่ะ ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาอะไรก็ไม่มีบทนี้สิ)
(1)     ถ้าเรามีหุ้นต่ำกว่า50%หรือ20% แต่แอบมีอำนาจควบคุมเด็ดขาดหรือชี้นำได้ล่ะ (เช่นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นจริงๆแล้วเป็นคนใช้ของเราเอง เป็นต้น)
ปกติแล้วถ้าเรามีอำนาจเด็ดขาดเหนือบริษัทนึง(เช่น ถือหุ้นเค้ามากกว่า50% แต่ก็ให้ยึดตามความเป็นจริงว่าบางครั้งเราอาจจะถือหุ้นต่ำกว่า50%แต่มีอำนาจควบคุมเด็ดขาดก็ได้) เกณฑ์บัญชีให้รวมงบการเงินของบริษัทนั้นเข้ามาเลย โดยอาจจะใช้วิธี pooling-of-interest หรือ purchase method ก็ได้
แต่ถ้าเราไม่ถึงกับมีอำนาจเด็ดขาดขนาดสั่งซ้ายหันขวาหันแต่ก็พอจะสามารถชักใยอยู่เบื้องหลังได้ (เกณฑ์บัญชีว่าถือหุ้นเค้า20-50% แต่ก็ให้ยึดตามความเป็นจริงนะว่าอาจจะถือหุ้นต่ำกว่า20%แต่ชี้นำได้ก็โอเค) อันนี้ให้ใช้วิธี equity method คือให้แสดงแค่ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทนั้นเข้ามาในงบกำไรขาดทุน(ที่มักจะเขียนว่าส่วนแบ่งกำไรในบริษัทร่วมละมั้ง) ส่วนในงบดุลก็แสดงแค่ราคาทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นมาบวกกับส่วนแบ่งกำไรสะสมที่ได้ตั้งแต่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นมา
(2)     บางครั้งมันก็ยากที่จะตัดสินใจได้ว่าใครควบคุมใครกันแน่ (เช่นกรณีที่ลงทุนกันครึ่งๆ เป็นต้น)
ในกรณีที่ร่วมทุนกันครึ่งๆคงยากที่จะฟันธงได้ว่าใครซื้อใครกันแน่ อันนี้ก็ใช้วิธีง่ายๆแบบ pooling-of-interest  คือบวกตัวเลขในงบการเงินแต่ละตัวกันซื่อๆเลย ง่ายดี แต่ถ้าพอรู้ว่าใครซื้อใครเข้ามา เค้าว่าให้ใช้ purchase accounting คือรวม equity ของบริษัทที่เราไปซื้อเค้ามาเนี่ยในราคาตลาด แล้วส่วนต่างที่เราจ่ายแพงกว่าราคาตลาด(เพราะอยากได้มาก) ก็ให้แสดงเป็นค่าความนิยมในงบการเงินซะ ซึ่งค่าความนิยมนี่ก็จะถูกตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายไปตลอดช่วงระยะเวลากี่ปีก็ว่ากันไป หรืออาจจะถูกwrite-offก็ได้ถ้าพิจารณาแล้วว่ามันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้มากมายเหมือนที่คิดไว้ตอนตัดสินใจซื้อ
อืม เหมือนว่าเกณฑ์บัญชีกำหนดไว้ละเอียดเหมือนกันว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้วิธี pooling-of-interest คร่าวๆก็ประมาณว่าเมื่อสองบริษัทนั้นดำเนินงานเป็นเอกเทศต่อกันมาไม่ต่ำกว่าสองปีก่อนจะมารวมกัน และซื้อขายโดยการแลกหุ้นกัน หลังจากรวมกันแล้วสิทธิ์การโหวตและการรับเงินปันผลไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีการขายสินทรัพย์หลักๆภายในสองปีหลังจากรวมกันแล้ว ประมาณนี้แหละ
(3)     บางครั้งบริษัทสองบริษัทมันร่วมทุนกันแบบอีนุงตุงนังมากจนไม่รู้ว่าใครควบคุมใคร
เช่นกรณีของ joint venture เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างในหนังสือยกเคสของบริษัท Dura กับ Spiros II มาให้ดู แต่อ่านแล้วงงมากเลยไม่ขอลงรายละเอียด (T T) แต่โดยสรุปคือให้ดูอำนาจควบคุมกันเองละกันนะว่าใครน่าจะสามารถควบคุมใครได้ - -;
อีกกรณีนึงคือเรื่องของฟรานไชส์ นึกง่ายๆก็ร้านเซเว่นที่ขายฟรานไชส์การเปิดสาขาให้เถ้าแก่หน้าปากซอย โดยเซเว่นจะสอนทุกสิ่งอย่างให้ ให้ใช้เครื่องหมายการค้าของเซเว่นได้ ส่งสินค้าให้ด้วย แต่เถ้าแก่ต้องจ่ายค่าแรกเข้า จ่ายส่วนแบ่งรายได้ และต้องปฏิบัติตามกฏข้อบังคับของเซเว่นอย่างเคร่งครัดด้วยนะ (ประมาณนี้มั้ง ไม่เคยทำจริง โปรดอย่าถามในรายละเอียด) ทีนี้ประเด็นทางบัญชีคือ แล้วเซเว่นใหญ่มีอำนาจควบคุมเหนือเซเว่นหน้าปากซอยหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องรวมงบนะ(ซวยละ) อืม แต่ข้อสรุปตอนนี้เหมือนว่ายังไม่ต้องรวมงบ แต่ให้มองว่าค่าแรกเข้าเป็นรายได้ซึ่งจะนับเป็นรายได้ก็ต่อเมื่อเซเว่นหน้าปากซอยเปิดให้บริการแล้วอย่างสมบูรณ์ ประมาณนี้แล (จริงไม่จริงต้องลองไปแกะงบCPALLดู น่าจะมีเขียนไว้ละเอียด)
(4)     กรณีที่บริษัทมีหลาย business unit (ขอเรียกสั้นๆว่าBUนะ)
อย่างพวกปูนซีเมนต์ไทยที่มีBUขายปูน ขายกระดาษและปิโตรเคมี(หรือเปล่านะ) หรือไมเนอร์ที่มีทั้งโรงแรมกับร้านอาหาร ในกรณีนี้ บริษัทอาจจะใจดี แสดงผลประกอบการแยกตามBUให้ด้วย นักลงทุนเม่าๆอย่างเราๆก็อาจจะอยากรู้ว่า เอ๊ segment ขายเครื่องเขียนของบริษัทAกับบริษัทBนี่ ใครเจ๋งกว่ากันนะ แต่ว่าการจะเปรียบเทียบระหว่างBUในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่คนละบริษัทนี่ก็ทำได้ยากอยู่ เพราะ
-         วิธีการแบ่งsegmentอาจจะไม่เหมือนกันเลย
-         บริษัทอาจจะยอมให้segmentนึงได้เปรียบกว่าอีกsegmentนึงเพื่อไม่ให้มันขาดทุนมากจนน่าเกลียด
-         บริษัทอาจจะมีsegmentที่ให้บริการทางการเงินเช่นพวกปล่อยกู้หรือประกันซึ่งมีkey ratioแตกต่างจากsegmentอื่นๆที่ขายของหรือผลิต  ดังนั้น การconsoงบของfinancial segmentพวกนี้เข้ามาในงบของบริษัทแม่จะทำให้ภาพรวมของบริษัทแม่บิดเบือนไปได้
-         มันอาจจะมีรายการระหว่างBUในบริษัทเดียวกันซึ่งทำให้BUนึงซึ่งอาจจะกดราคาต้นทุนจากฝ่ายการผลิตของบริษัทA ทำให้BUของบริษัทAได้เปรียบกว่าBUของอีกบริษัทนึงที่ไปซื้อของจากข้างนอกมาขาย นี่ก็เป็นไปได้

จบแล้วสำหรับส่วนของ Accounting Analysis ที่แสนจะน่าเบื่อ ต่อไปจะเป็น...แต่น แตน แต๊น... เรื่อง Financial Analysis แล้ว เย้ๆๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น