วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

Revenue Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 6

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้เป็นเรื่องของ revenue analysis ซึ่งจะคุยในประเด็นเรื่องการรับรู้รายได้ ซึ่งมีเกณฑ์การรับรู้รายได้สองข้อ ถ้าพูดแบบบ้านๆก็คือ 1) ลูกค้ารับสินค้าไปแล้วนะ 2) ลูกค้าจะจ่ายเงินแน่ๆ แต่ทีนี้ก็มีหลายๆเคสที่ควรจะพิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อยลงไป เช่น
(1)     ถ้าลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าล่ะ จะรับรู้รายได้เลยได้มั้ย
กรณีนี้เช่นพวกนิตยสารที่ลูกค้าจ่ายค่าสมัครล่วงหน้า ประกันที่ลูกค้าจ่ายค่าประกันไปก่อนแล้วเกิดไรขึ้นค่อยมาเคลม หรือค่าประกันสินค้าที่เราจ่ายเพื่อเพิ่มระยะเวลาประกัน(เช่นจากหนึ่งปีเป็นสามปี เป็นต้น) อันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เกณฑ์ข้อสองเพราะเราได้ตังค์แล้ว แต่อยู่ทีเกณฑ์ข้อหนึ่งคือ ลูกค้ายังได้สินค้าไม่ครบ100%นะ จะรับรู้รายได้เต็มๆเลยก็กระไรอยู่ หรืออาจจะเกิดต้นทุนเพิ่มเติมในตอนหลังถ้าลูกค้าไม่พอใจในสินค้าหรือบริการของเรา (เช่นอาจจะต้องให้บริการเพิ่มหรือต้องจ่ายชดเชยให้ลูกค้าผู้มีพระคุณปานประหนึ่งพระเจ้า ไรงี้) เพราะอย่าลืมว่าเมื่อรับรู้รายได้ไปแล้ว ก็ต้องมีต้นทุนที่ match กับรายได้ที่รับรู้ไปแล้วด้วย
ทีนี้ ถ้าจะรับรู้รายได้เลยเมื่อได้รับเงินก็เร็วไปนิ้ด จะรับรู้รายได้หลังจากครบกำหนดเวลาแล้วก็ช้าไปหน่อย โดยส่วนใหญ่ก็เลยแบ่งการรับรู้รายได้ไปตามช่วงเวลา (เช่นรับรู้รายได้ค่าสมัครนิตยสารรายปีออกเป็น 12 เดือนเท่าๆกัน) ส่วนต้นทุนก็ประมาณการเอาตามความเหมาะสมละกัน (อาจจะดูจากตัวเลขในอดีตเป็นต้น)

(2)     ถ้าสินค้าหรือบริการมีอายุใช้งานได้นานหลายๆปีล่ะ จะรับรู้รายได้ยังไง
กรณีนี้เช่นพวกสัญญาก่อสร้างหรือตั๋วเครื่องบินแบบที่มีสะสมไมล์ ความเสี่ยงในกรณีนี้คือ (1) ลูกค้าไม่พอใจในบริการเลยโวยวายให้ทำงานเพิ่มหรือขอเงินชดเชย และ (2) ต้นทุนสูงกว่าที่ประเมินไว้ (เช่นต้นทุนวัสดุก่อสร้าง)
โดยทั่วๆไปถ้าเป็นงานก่อสร้างก็จะรับรู้รายได้ตามเปอร์เซ็นต์ของงานที่ทำเสร็จแล้ว โดยดูจากเปอร์เซ็นต์ของต้นทุนที่ใช้ไปต่อประมาณการต้นทุนทั้งหมด(จะดีเหรอ)ถ้า(กูว่าละ)สามารถประมาณการต้นทุนทั้งหมดและเปอร์เซ็นต์ของงานที่ทำเสร็จได้อย่างใกล้เคียง แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่รู้งานจะเสร็จเมื่อไหร่(เช่นงานก่อสร้างภาครัฐที่อาจมีการประท้วงโน่นนี่นั่น) ก็จงใช้วิธีรับรู้รายได้หลังจากงานทั้งก้อนเสร็จแล้ว(ซวยเลย)
แล้วถ้าเป็นตั๋วเครื่องบินแบบสะสมไมล์ล่ะ ไมล์ที่ลูกค้าสะสมไว้ก็เป็นต้นทุนอย่างนึงเหมือนกัน(มัน เอ๊ย ท่านลูกค้าจะมาบินฟรีเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) อันนี้เค้าให้เลือกได้สองแบบคือ (1) คิดซะว่าลูกค้าซื้อตั๋วสองใบคือใบแรกนั่งแน่ๆ กับอีกใบนึงที่อาจจะนั่งตอนหลัง(จากไมล์สะสม) ดังนั้น รับรู้รายได้เป็นสองขยัก(งงๆนะ ว่ามั้ย) หรือ (2) คิดซะว่าไมล์สะสมเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มในการทำการตลาด แล้วก็ประมาณการต้นทุนนั้นซะ(เออ อันนี้เข้าใจง่ายหน่อย)

(3)     ถ้าสินค้าขายไปโดยที่ผู้ขายมีแอบเหลือสิทธิ์ไว้บ้าง(ขายแบบกั๊กๆยังไงไม่รู้)
อันนี้เช่นพวกสัญญาเช่าซื้อ(ที่มีมูลค่าซาก) หรือพวกfactoringที่ขายinvoiceให้ธนาคาร แต่ถ้าธนาคารเก็บตังค์ไม่ได้จะต้องรับซื้อinvoiceคืนนะเธอ(ประมาณนี้มั้ย) อันนี้มันเป็นโซนเทาๆว่า ตกลงนี่เช่าซื้อหรือเช่าเฉยๆนิ และตกลงนี่ขายหรือว่ากู้เงินโดยเอาinvoiceเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนิ คำตอบอยู่ที่ว่าความเสี่ยงส่วนใหญ่ตกอยู่กับใครนะฮ้าฟ
กรณีของ factoring จะมองว่าเป็นการขายก็ต่อเมื่อสิทธิ์และความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงไปอยู่ที่ธนาคารที่ซื้อinvoiceนั้นไปแล้ว โดยรายละเอียดคือ (1) ผู้ขายสละสิทธิ์ทุกประการของ invoice นั้น 2) ผู้ขายสามารถประมาณการต้นทุนอันเกิดจากลูกหนี้ของ invoice นั้นชักดาบหรือจ่ายตังค์ก่อน(ทำให้ได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คิด) และ 3) ธนาคารที่ซื้อ invoice ไปห้ามเอามาขายคืนถ้าเก็บตังค์ไม่ได้
ส่วนประเด็นของเช่าซื้อคือมันขายหรือมันเช่านิ ถ้าขายก็หมายความว่าสินค้านั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้า แต่ถ้าเช่าก็หมายความว่าสินค้านั้นเป็นทรัพย์สินของผู้ขาย ผู้ซื้อจริงๆแล้วเป็นแค่มาเช่าใช้งานเฉยๆ อันนี้อาจจะพูดได้ว่าทั้งสองฝ่ายอยากใช้ประโยชน์(คนขายอยากขาย คนซื้ออยากเช่า)แต่ไม่อยากได้ เพราะถ้าได้มาเป็นทรัพย์สิน Equity มันจะเยอะ ROE มันจะต่ำ อันนี้เกณฑ์บัญชีกำหนดไว้ว่าถ้าเงื่อนไขต่อไปนี้อันใดอันหนึ่งเป็นจริงถือว่าเป็นการขายล่ะ คือ (1) ผู้ซื้อได้สินค้านั้นไปเมื่อครบสัญญาเช่า (2) ผู้ซื้อมีสิทธิ์ซื้อสินค้านั้นในราคาโคตรถูกเมื่อครบสัญญาเช่า (3) สัญญาเช่านานจนสินค้านั้นเกือบหมดอายุการใช้งานแล้ว (4) present value ของสัญญาเช่าซื้อเกือบจะเท่ามูลค่าสินค้านั้นแล้ว ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ โดยสรุปคือ ผู้ซื้อแทบจะใช้ประโยชน์สินค้านั้นจนหมดแล้วล่ะ จะกระมิดกระเมี้ยนมาบอกว่าเช่าไปทำไมอีก
กรณีข้างบนนี้เค้าเรียกว่า financial lease แต่ถ้าไม่เข้ากรณีนี้ถือเป็นเช่า เค้าเรียกว่า operating lease อันนี้ผู้ขายก็รับรู้รายได้เป็นค่าเช่า สินค้าถือเป็นสินทรัพย์ของผู้ให้เช่า ส่วนต้นทุนก็คือค่าเสื่อมราคาของสินค้านั้น

(4)     ถ้าผู้ขายให้สินเชื่อกับผู้ซื้อด้วยล่ะ
อันนี้ตรงข้ามกับข้อหนึ่งและข้อสองคือ ประเด็นอยู่ที่เกณฑ์การรับรู้รายได้ข้อหลังคือ ลูกค้าจะจ่ายเงินแน่ๆใช่มั้ย จริงนะ ชัวร์นะ ไม่ชักดาบนะ ไม่เล่นมุข"ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"นะ อันนี้ก็ต้องดูว่าบริษัทบริหารลูกหนี้ได้ดีแค่ไหน ประมาณการหนี้สงสัยจะสูญได้ใกล้เคียงความจริงมั้ย ลูกค้าวางเงินดาวน์เยอะพอที่จะกัดฟันผ่อนต่อจนจบหรือเปล่า

(5)     ถ้าผู้ขายให้ผู้ซื้อคืนสินค้าได้ล่ะ
อันนี้คือพวกที่ขายของแบบไม่พอใจยินดีคืนเงิน กรณีนี้ปกติก็จะรับรู้รายได้เต็มจำนวน แล้วประมาณการเรื่องการคืนสินค้าโดยดูจากตัวเลขในอดีตเอา(ซึ่งมันก็ควรจะใกล้เคียงถ้าไม่ซวยเอาซะก่อนนะ) แต่ถ้าไม่สามารถประมาณการได้ก็จงรับรู้รายได้หลังจากหมดช่วงคืนสินค้าแล้ว(ซึ่งก็นะ ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยก็ต้องประมาณการได้เอาไว้ก่อนมั้ย จะได้รับรู้รายได้ไวๆ)


โดยสรุปคือ 5 เคสข้างบนนั้น บริษัทต้องทำการประมาณการในหลายๆอย่างเพื่อให้ตัวเลขในงบการเงินใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นจุดวัดใจล่ะว่าประมาณการพวกนั้นจะเชื่อถือได้แค่ไหน ก็เป็นหน้าที่ที่เราๆท่านๆต้องมาวิเคราะห์กัน

บทต่อไปเป็นเรื่องของ Expense Analysis นะฮ้าฟ

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

Liability and Equity Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 5

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้อธิบายเรื่องการทำ Accounting Analysis ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินและส่วนทุน(equity หรือเรียกภาษาไทยยาวๆว่าส่วนของผู้ถือหุ้น แต่เนื่องจากมันยาว พิมพ์ยาก ขอเรียกสั้นๆว่าส่วนทุน) ที่รวมเอาส่วนทุนมารวมในบทนี้ก็เพราะว่ามันคือสินทรัพย์ลบหนี้สินนั่นเองงงงงง คาดว่าจารย์Palepuจะตั้งเป็นอีกบทก็ขี้เกียจ เลยรวมๆกันมาอย่างเนี้ยแหละ ประหนึ่งว่าเป็นของแถม (ทั้งหมดนี้มโนล้วนๆ)
liability หรือภาษาบ้านเราเรียกง่ายๆว่าหนี้ หนี้ตรงข้ามกับสินทรัพย์ เพราะว่าสินทรัพย์คือจ่ายตังค์แล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนหนี้สินคือใช้ประโยชน์ไปแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายตังค์ เหมือนเดิมนะครับ เราจะสรุปแบบย่อๆเนื่องจากว่ารายละเอียดปลีกย่อยขึ้นกับการลงบัญชีของแต่ละประเทศและแต่ละช่วงเวลากฏเกณฑ์มันก็เปลี่ยนไป (และเหตุผลหลักคือคนสรุปก็ไม่ได้แม่นเรื่องบัญชีเท่าไหร่นักและขี้เกียจด้วย)

เกณฑ์ที่เราจะถือว่าอะไรซักอย่างนึงเป็นหนี้สินของบริษัทมี 2 ข้อคือ
(1)     ฉันต้องแน่ใจจริงๆว่าฉันต้องจ่าย
(2)     ฉันต้องประมาณได้ว่าฉันต้องจ่ายเท่าไหร่และเมื่อไหร่

ทีนี้ปัญหามันจะเกิดก็ต่อเมื่อบริษัทเกิดอาการงงๆ เริ่มตีมึนว่า
(1)     ฉันเริ่มไม่แน่ใจแล้วสิว่านี่ฉันต้องจ่ายเธอจริงๆหรือเนี่ย หรือถามแบบบัญชี้บัญชีก็คงประมาณว่า ฉันต้องตั้งหนี้จริงๆหรือ ตัวอย่างเช่น
o   ค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร(restructuring reserve) จะต้องตั้งหนี้เมื่อไหร่ เมื่อประกาศออกมาเหรอ (แต่สุดท้ายอาจจะไม่ได้ปรับโครงสร้างตามที่โม้ไว้ก็ได้นา)
o   อีกตัวอย่างนึงคือเรื่องโปรแกรมสะสมไมล์ของสายการบิน ที่จะมีคำถามว่า บริษัทต้องตั้งหนี้สำหรับไมล์ที่ลูกค้าสะสมได้หรือเปล่า เพราะลูกค้าบางส่วน(ซึ่งรวมข้าเจ้าด้วย ไม่เคยแลกเลยแม้ซักครั้งในชีวิต เพราะสะสมไม่ถึงเป้า)ก็อาจจะไม่ได้เอาไมล์นั้นมาแลกเป็นเที่ยวบินฟรี หรือถึงอยากแลกก็อาจจะแลกไม่ได้เพราะไม่มีเที่ยวบินที่อยากไป(อันนี้ไม่รู้ ไม่เคยใช้) และสายการบินก็มีสิทธิ์เปลี่ยนโปรโมชั่นเมื่อไหร่ยังไงก็ได้ด้วย แต่ไอ้ครั้นจะไม่ตั้งหนี้เลย ก็จะเป็นที่ครหาว่างบการเงินไม่สะท้อนต้นทุนของบริษัทในการทำโปรโมชั่นอีก
o   คดีฟ้องร้องก็เป็นอีกตัวอย่างนึงว่าบริษัทต้องตั้งหนี้รอไว้สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะถ้าตั้งหนี้ก็อาจจะถูกมองว่าบริษัทยอมรับผิดกลายๆ แล้วพาลจะส่งผลต่อรูปคดีหรือเปล่า แต่ก็อีกแหละ จะไม่ตั้งหนี้เลยก็จะไม่สะท้อนความเสี่ยงของบริษัทในงบการเงินอีก (ส่วนใหญ่คงบอกในหมายเหตุประกอบงบละมั้ง)

(2)     ฉันก็ยังงงๆว่าแล้วฉันต้องจ่ายเธอเท่าไหร่เมื่อไหร่เนี่ย
o   อย่างพวกค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม(environmental liabilities ซึ่งเมืองไทยคงไม่มีวันจะมีรายการนี้) ซึ่งค่าใช้จ่ายมันขึ้นกับว่า สิ่งแวดล้อมนั้นเสียหายแค่ไหน จะใช้วิธีไหนในการฟื้นฟู แล้วบริษัทมีเอี่ยวกะเค้าแค่ไหน แล้วสรุปว่าบริษัทควรจะตั้งหนี้เมื่อไหร่เท่าไหร่ล่ะ
o   หรือสวัสดิการพนักงานประเภทเงินที่ต้องจ่ายตอนพนักงานเกษียณ พวกกองทุนสมทบไรงี้ การจะประมาณการค่าใช้จ่ายมันขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่นว่า พนักงานจะอยู่กับบริษัทอีกนานแค่ไหน เงินเดือนสุดท้ายจะเป็นเท่าไหร่ แล้วกองทุนจะทำกำไรได้แค่ไหน (หักเงินเกษียณแล้วจะเหลือเป็นหนี้อีกเท่าไหร่) แล้วจะคิดอัตราลดเป็น present value เท่าไหร่ เป็นต้น ตัวเลขทั้งหมดนี้เดากันล้วนๆ
o   อีกตัวอย่างนึงก็พวก loss reserve ของเงินประกัน อันนี้ก็เดาเอาจากตัวเลขในอดีตเหมือนกันว่ามันน่าจะประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนเรื่องความคลาดเคลื่อนโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่จะว่ากันไป
o   อันสุดท้ายพวกค่าใช้จ่ายในการรับประกันสินค้า อย่างพวกบริษัทรถที่เรียกคืนรถรุ่นนั้นรุ่นนี้เนื่องจากอุปกรณ์โน่นนี่นั่นอาจมีปัญหาระเบิดไฟลุกท่วมในวันโลกาวินาศเมื่อดาวศุกร์โคจรมาซ้อนกับดวงจันทร์ในระนาบเดียวกัน(ว่าไปนั่น) ค่าใช้จ่ายพวกนี้ก็ต้องประมาณการจากตัวเลขในอดีตเหมือนกัน หรือถ้ามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าดีขึ้นก็อาจจะตั้งหนี้น้อยลงก็ได้

(3)     เอ๊ะ หรือมูลค่าหนี้ของฉันมันเปลี่ยนไปแล้วละเนี่ย
เช่นพวกที่มีการปรับโครงสร้างหนี้เป็นต้น
เป็นอันว่าจบในส่วนของ liability และเราจะต่อกันสั้นๆในส่วนของ equity หรือส่วนทุน ซึ่งได้มาจากสินทรัพย์ลบหนี้สินนั่นเอง มันน่าจะง่ายถ้าเราวิเคราะห์งบเรื่องสินทรัพย์กับหนี้สิน ปัญหาความน่าเชื่อถือหรือความเสี่ยงใดๆที่เกิดกับงบส่วนสินทรัพย์และหนี้สินก็จะส่งผลถึงส่วนทุนทางอ้อมนั่นแหละ (เพราะมันเอามาคำนวณหาส่วนทุน) แต่มันก็ยังมีประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับส่วนทุนอีก เช่น
(1)     อะไรที่มันเป็นลูกครึ่งหนี้ครึ่งทุน(hybrid securities) เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible debt) ซึ่งเป็นการให้กู้เงินแบบที่สามารถแปลงเงินกู้เป็นหุ้นได้ ในทางทฤษฎีแล้ว เราสามารถแบ่งหุ้นกู้แปลงสภาพออกมาเป็นส่วนที่เป็นหนี้กับส่วนที่เป็นทุนได้ล่ะ(ซึ่งแปลว่าคนสรุปก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำยังไง) แต่ในทางบัญชีบังคับให้ลงเป็นหนี้สินเท่านั้น(ปานประหนึ่งว่ามันแปลงสภาพไม่ได้)
(2)     unrealized gains and losses หรือกำไรที่ได้จากเงินลงทุนแต่ยังไม่ได้เห็นเป็นเงินสดจะบันทึกเป็นกำไรในงบกำไรขาดทุนหรือเปล่า หรือจะไปเพิ่มที่ส่วนทุนเลยโดยไม่ผ่านงบกำไรขาดทุน อันนี้ก็มีเกณฑ์ทางบัญชีกำกับอยู่ว่าต้องลงแบบไหน

จบบทที่ห้าแค่นี้แหละครับ เจอกันครั้งหน้าเรื่อง Revenue Analysis เลยนะฮ้าฟ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

Asset Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 4

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการทำAccounting Analysis ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ asset หรือเรียกเป็นภาษาไทยๆว่าสินทรัพย์ โดยเราจะสรุปแบบย่อๆเนื่องจากว่ารายละเอียดปลีกย่อยขึ้นกับการลงบัญชีของแต่ละประเทศและแต่ละช่วงเวลากฏเกณฑ์มันก็เปลี่ยนไป(และเหตุผลหลักคือคนสรุปก็ไม่ได้แม่นเรื่องบัญชีเท่าไหร่นัก)
เกณฑ์ที่เราจะถือว่าอะไรซักอย่างนึงเป็นสินทรัพย์ของบริษัทมี 3 ข้อคือ
(1)     มันต้องเป็นของบริษัทจริงๆนะเว้ย (ห้ามไปมั่วนิ่มเอาของคนอื่นมาลงบัญชี)
(2)     มันต้องใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวจริงๆนะเว้ย
(3)     ประโยชน์ใช้สอยของมันในระยะยาวต้องประเมินเป็นมูลค่าได้นะเว้ย
การตีมูลค่าของสินทรัพย์ เราจะใช้ราคาในอดีต(historical cost) หรือมูลค่ายุติธรรม(fair value)แล้วแต่ว่าอันไหนน้อยกว่า(หรือพูดสั้นๆว่าconservativeไว้ก่อน)

ปัญหาที่เรามักจะเจอในงบส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ก็มีเท่ากับเกณฑ์ 3 ข้อข้างบนนั่นแหละ อันได้แก่
(1)     ใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นกันแน่ ตัวอย่างเช่น
-      สินทรัพย์ที่เช่าเค้ามา (leased asset) จะถือว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่ระหว่างคนให้เช่ากับคนเช่า เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
o   Capital Lease จะถือว่าสินทรัพย์นั้นเป็นของบริษัทผู้เช่า และตั้งเป็นหนี้สินเท่าๆกัน ซึ่งสินทรัพย์นั้นก็จะถูกตัดค่าเสื่อมไปตามปกติ ส่วนค่าเช่าก็ถูกคิดเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นที่จ่ายคืน
o   Operating Lease จะถือว่าสินทรัพย์นั้นยังคงเป็นของบริษัทผู้ปล่อยเช่า เราก็จะมองว่าค่าเช่านั้นเป็นค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าเราย่อมอยากจะทำให้มันเป็น operating lease สินะ เพราะจะทำให้ asset เราต่ำๆ (ROA ก็จะสูง) หนี้เราก็ต่ำ (D/E ก็จะต่ำ) แต่มันก็จะมีกฏบังคับอยู่ว่าถ้าตรงตามเงื่อนไขแล้วให้ถือเป็น Capital Lease นะ(แต่ไม่ลงรายละเอียดนะครับ ไปหาดูเอาเอง)
-      ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน เราก็สามารถคิดได้ว่า ไอ้ที่อบรมพนักงานไปนั้น พนักงานนิสัยดีขึ้นทำงานเก่งขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์กับบริษัท(ถ้ามันไม่ชิงลาออกไปซะก่อน) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการทำ training ก็น่าจะคิดเป็นสินทรัพย์ได้เหมือนกันถ้าจะคิด (แค่คิดเล่นๆ เพราะยังไงเกณฑ์บัญชีบังคับว่าเป็นค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว (อาจจะด้วยว่ามันประเมินเป็นมูลค่าได้ยากด้วยหรือเปล่า)

(2)     สินทรัพย์นั้นยังคงใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวจริงเหรอ
ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนอย่างพวกเครื่องจักร โต๊ะเก้าอี้ เราก็รู้ว่ามันใช้งานได้ มันมีประโยชน์อยู่ แต่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างเช่นค่าความนิยม ค่าmarketing ค่าวิจัยต่างๆ บางที่เราก็ไม่ค่อยชัวร์นะว่ามันจะมีประโยชน์จริงเหรอ ตัวอย่างเช่น
-      มูลค่าของแบรนด์ โดยปกติทั่วไปแล้วค่าโฆษณา ค่าการตลาด ต้นทุนในการลดแลกแจกแถมทั้งหลาย จะถูกมองเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่เนื่องจากมันเอาไปสร้างแบรนด์(ที่ไม่ใช่รังนกหรือซุปไก่ แต่แปลเป็นไทยปนจีนว่ายี่ห้อ) ซึ่งมันก็มีประโยชน์ในระยะยาวเหมือนกัน เช่นทำให้ตั้งราคาสินค้าได้แพงๆ ทำให้ขายได้ง่าย เอาไปบีบซัพพลายเออร์ได้ เป็นต้น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายพวกนั้นมันก็ควรจะมองเป็นสินทรัพย์ได้สิ แต่เนื่องจากมันประเมินมูลค่าของแบรนด์ได้ยาก ส่วนใหญ่เค้าก็จะไม่ให้คิดว่าแบรนด์เป็นสินทรัพย์ ยกเว้นบางประเทศเช่นออสเตรเลียหรืออังกฤษ อนุญาตให้ประเมินมูลค่าของแบรนด์มาใส่เป็นสินทรัพย์ได้จริงหรือเปล่าไม่รู้ หนังสือว่าไว้อย่างนั้น
-      ค่าความนิยม(goodwill) ซึ่งใหม่ๆก็งงเต๊กว่าไอ้นี่คืออะไร มันคือส่วนต่างที่เกิดขึ้นตอนเราไปซื้อบริษัทอื่นมาสูงกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็นนั่นเอง อย่างเช่น เราประเมินมูลค่าแฟนเราว่าน่าจะขายได้ซักแสนนึง แต่จ่ายค่าสินสอดไปซะล้านนึง(เนื่องจากไปทำเค้าท้องแล้วบังเอิญว่าพ่อตาดุถือปืนจ่อหัวอยู่ไรงี้ พล็อตน้ำเน่าเกิ๊น) ก็จะเกิดค่าความนิยมขึ้น9แสน ซึ่งเราก็จะตัดค่าเสื่อมตามอายุการใช้งาน (เค้าว่ากันว่าแก่ง่ายตายยากซะด้วย อาจจะต้องตัดค่าเสื่อมซัก60ปี หรือเราอาจจะตายก่อน) ประเด็นที่ต้องระวังคือ (1) บริษัทจ่ายแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่า และ (2) อายุการใช้งานที่เรามั่วๆกันขึ้นมา(สูงสุดไม่เกิน40ปี ยังคงเป็นงั้นอยู่ใช่มั้ย)นั้นเหมาะสมจริงหรือ
-      Deferred tax คือในกรณีที่มีขาดทุนสะสมและสามารถเอาขาดทุนสะสมนั้นมาลดหย่อนภาษีได้ เราก็สามารถมองได้ว่าไอ้เจ้าก้อนขาดทุนสะสมนั้นเป็นสินทรัพย์ได้เหมือนกัน แต่ปัญหาคือ ภาษีมันจะเกิดมีได้ก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถทำกำไรได้ แล้วเมื่อไหร่ล่ะที่บริษัทจะทำกำไรได้ (โดยเฉพาะบริษัทเกิดใหม่ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรได้เมื่อไหร่)
สรุปคือชะตาชีวิตของไอ้เจ้าก้อนอะไรซักอย่างที่เราจ่ายตังค์ไปซื้อมานั้นมีได้3กรณีคือ
(1) ตั้งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน(อย่างค่าโฆษณา แกไม่มีทางเลือก เกณฑ์บัญชีเค้าบังคับมางี้)
(2) ตั้งเป็นสินทรัพย์ทั้งก้อน(อย่างค่าความนิยม)แล้วตัดค่าเสื่อมเอา หรือ
(3) ตั้งเป็นสินทรัพย์มีมูลค่าตามความเหมาะสม(อย่างเช่น deferred tax) ดังนี้แล

(3)     มูลค่ามันอาจจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า ภาษาหรูๆก็ต้องเรียกว่า มันเกิดการด้อยค่าหรือเปล่า สังเกตว่าด้อยค่าได้ แต่มีมูลค่าสูงเกินกว่า historical cost ไม่ได้ เพราะเราคอน/เซอ/เว/ติ้ด/ซึ่ม (conservatism) ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น
-      สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงาน(operating asset)ทั้งหลาย เช่น ลูกหนี้(มันจะชักดาบหรือเปล่า) สินค้าคงเหลือ(มันจะขายไม่ออกหรือเปล่า) หรือเครื่องจักรทั้งหลาย(มันจะล้าสมัยจนผลิตอะไรก็ขายใครไม่ได้แล้วหรือเปล่า)
-      financial instrument ทั้งหลายเช่นพวกพันธบัตร หุ้นกู้ เงินลงทุนในบริษัทร่วม หุ้นที่ไปลงทุนเอาไว้
-      มูลค่าของบริษัทย่อยในต่างประเทศ

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่มักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ อย่างเช่น
(1)     ถ้าจ่ายตังค์ซื้อมาแล้วต้องคิดเป็นสินทรัพย์เสมอ
ไม่จริงนะเธอ ถ้าซื้อขี้มาแล้วใช้ไม่ได้ ขี้ก็คือขี้ ไม่ใช่สินทรัพย์นะเธอ

(2)     ถ้าจับต้องไม่ได้ ไม่คิดเป็นสินทรัพย์
ไม่จริงนะเธอ แบรนด์ของโค้กมันเป็นสินทรัพย์แน่ๆ แต่อาจจะวัดมูลค่าทางบัญชีได้ยากหน่อย แต่มันก็เป็นสินทรัพย์นะเธอ

(3)     ถ้าซื้อมาคิดเป็นสินทรัพย์ ถ้าสร้างเองไม่คิด
อันนี้ดูจะเกี่ยวกับพวกงานวิจัย คือประมาณว่า ถ้าซื้องานวิจัยมาแสดงว่ามันคงใช้ได้จริงแน่ๆเลยมองเป็นสินทรัพย์ แต่ถ้าพัฒนาเองมันถูกตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปตั้งนานแล้วเลยไม่รู้จะคิดเป็นสินทรัพย์ยังไง ซึ่งประเด็นมันคงไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่า งานวิจัยนั้นๆมันเกิดประโยชน์จริงหรือเปล่า

(4)     ราคาตลาดสำคัญเฉพาะสินทรัพย์ที่ตั้งใจจะขาย
อย่างเช่นพันธบัตรหรือหุ้นที่ถือยาวไม่คิดจะขาย หรือที่ดินไรงี้ที่บันทึกในงบที่ราคาทุน การบันทึกอะไรแบบนั้นจะทำให้ภาพรวมความอู้ฟู่ของบริษัทบิดเบือนไปได้

เป็นอันว่าจบบทที่สี่แค่นี้ เจอกันครั้งหน้าเป็นบทที่ห้า เรื่อง Liability & Equity Analysis เลยนะฮ้าฟ