วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

Asset Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 4

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการทำAccounting Analysis ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ asset หรือเรียกเป็นภาษาไทยๆว่าสินทรัพย์ โดยเราจะสรุปแบบย่อๆเนื่องจากว่ารายละเอียดปลีกย่อยขึ้นกับการลงบัญชีของแต่ละประเทศและแต่ละช่วงเวลากฏเกณฑ์มันก็เปลี่ยนไป(และเหตุผลหลักคือคนสรุปก็ไม่ได้แม่นเรื่องบัญชีเท่าไหร่นัก)
เกณฑ์ที่เราจะถือว่าอะไรซักอย่างนึงเป็นสินทรัพย์ของบริษัทมี 3 ข้อคือ
(1)     มันต้องเป็นของบริษัทจริงๆนะเว้ย (ห้ามไปมั่วนิ่มเอาของคนอื่นมาลงบัญชี)
(2)     มันต้องใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวจริงๆนะเว้ย
(3)     ประโยชน์ใช้สอยของมันในระยะยาวต้องประเมินเป็นมูลค่าได้นะเว้ย
การตีมูลค่าของสินทรัพย์ เราจะใช้ราคาในอดีต(historical cost) หรือมูลค่ายุติธรรม(fair value)แล้วแต่ว่าอันไหนน้อยกว่า(หรือพูดสั้นๆว่าconservativeไว้ก่อน)

ปัญหาที่เรามักจะเจอในงบส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ก็มีเท่ากับเกณฑ์ 3 ข้อข้างบนนั่นแหละ อันได้แก่
(1)     ใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นกันแน่ ตัวอย่างเช่น
-      สินทรัพย์ที่เช่าเค้ามา (leased asset) จะถือว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่ระหว่างคนให้เช่ากับคนเช่า เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
o   Capital Lease จะถือว่าสินทรัพย์นั้นเป็นของบริษัทผู้เช่า และตั้งเป็นหนี้สินเท่าๆกัน ซึ่งสินทรัพย์นั้นก็จะถูกตัดค่าเสื่อมไปตามปกติ ส่วนค่าเช่าก็ถูกคิดเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นที่จ่ายคืน
o   Operating Lease จะถือว่าสินทรัพย์นั้นยังคงเป็นของบริษัทผู้ปล่อยเช่า เราก็จะมองว่าค่าเช่านั้นเป็นค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าเราย่อมอยากจะทำให้มันเป็น operating lease สินะ เพราะจะทำให้ asset เราต่ำๆ (ROA ก็จะสูง) หนี้เราก็ต่ำ (D/E ก็จะต่ำ) แต่มันก็จะมีกฏบังคับอยู่ว่าถ้าตรงตามเงื่อนไขแล้วให้ถือเป็น Capital Lease นะ(แต่ไม่ลงรายละเอียดนะครับ ไปหาดูเอาเอง)
-      ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน เราก็สามารถคิดได้ว่า ไอ้ที่อบรมพนักงานไปนั้น พนักงานนิสัยดีขึ้นทำงานเก่งขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์กับบริษัท(ถ้ามันไม่ชิงลาออกไปซะก่อน) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการทำ training ก็น่าจะคิดเป็นสินทรัพย์ได้เหมือนกันถ้าจะคิด (แค่คิดเล่นๆ เพราะยังไงเกณฑ์บัญชีบังคับว่าเป็นค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว (อาจจะด้วยว่ามันประเมินเป็นมูลค่าได้ยากด้วยหรือเปล่า)

(2)     สินทรัพย์นั้นยังคงใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวจริงเหรอ
ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนอย่างพวกเครื่องจักร โต๊ะเก้าอี้ เราก็รู้ว่ามันใช้งานได้ มันมีประโยชน์อยู่ แต่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างเช่นค่าความนิยม ค่าmarketing ค่าวิจัยต่างๆ บางที่เราก็ไม่ค่อยชัวร์นะว่ามันจะมีประโยชน์จริงเหรอ ตัวอย่างเช่น
-      มูลค่าของแบรนด์ โดยปกติทั่วไปแล้วค่าโฆษณา ค่าการตลาด ต้นทุนในการลดแลกแจกแถมทั้งหลาย จะถูกมองเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่เนื่องจากมันเอาไปสร้างแบรนด์(ที่ไม่ใช่รังนกหรือซุปไก่ แต่แปลเป็นไทยปนจีนว่ายี่ห้อ) ซึ่งมันก็มีประโยชน์ในระยะยาวเหมือนกัน เช่นทำให้ตั้งราคาสินค้าได้แพงๆ ทำให้ขายได้ง่าย เอาไปบีบซัพพลายเออร์ได้ เป็นต้น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายพวกนั้นมันก็ควรจะมองเป็นสินทรัพย์ได้สิ แต่เนื่องจากมันประเมินมูลค่าของแบรนด์ได้ยาก ส่วนใหญ่เค้าก็จะไม่ให้คิดว่าแบรนด์เป็นสินทรัพย์ ยกเว้นบางประเทศเช่นออสเตรเลียหรืออังกฤษ อนุญาตให้ประเมินมูลค่าของแบรนด์มาใส่เป็นสินทรัพย์ได้จริงหรือเปล่าไม่รู้ หนังสือว่าไว้อย่างนั้น
-      ค่าความนิยม(goodwill) ซึ่งใหม่ๆก็งงเต๊กว่าไอ้นี่คืออะไร มันคือส่วนต่างที่เกิดขึ้นตอนเราไปซื้อบริษัทอื่นมาสูงกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็นนั่นเอง อย่างเช่น เราประเมินมูลค่าแฟนเราว่าน่าจะขายได้ซักแสนนึง แต่จ่ายค่าสินสอดไปซะล้านนึง(เนื่องจากไปทำเค้าท้องแล้วบังเอิญว่าพ่อตาดุถือปืนจ่อหัวอยู่ไรงี้ พล็อตน้ำเน่าเกิ๊น) ก็จะเกิดค่าความนิยมขึ้น9แสน ซึ่งเราก็จะตัดค่าเสื่อมตามอายุการใช้งาน (เค้าว่ากันว่าแก่ง่ายตายยากซะด้วย อาจจะต้องตัดค่าเสื่อมซัก60ปี หรือเราอาจจะตายก่อน) ประเด็นที่ต้องระวังคือ (1) บริษัทจ่ายแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่า และ (2) อายุการใช้งานที่เรามั่วๆกันขึ้นมา(สูงสุดไม่เกิน40ปี ยังคงเป็นงั้นอยู่ใช่มั้ย)นั้นเหมาะสมจริงหรือ
-      Deferred tax คือในกรณีที่มีขาดทุนสะสมและสามารถเอาขาดทุนสะสมนั้นมาลดหย่อนภาษีได้ เราก็สามารถมองได้ว่าไอ้เจ้าก้อนขาดทุนสะสมนั้นเป็นสินทรัพย์ได้เหมือนกัน แต่ปัญหาคือ ภาษีมันจะเกิดมีได้ก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถทำกำไรได้ แล้วเมื่อไหร่ล่ะที่บริษัทจะทำกำไรได้ (โดยเฉพาะบริษัทเกิดใหม่ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรได้เมื่อไหร่)
สรุปคือชะตาชีวิตของไอ้เจ้าก้อนอะไรซักอย่างที่เราจ่ายตังค์ไปซื้อมานั้นมีได้3กรณีคือ
(1) ตั้งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน(อย่างค่าโฆษณา แกไม่มีทางเลือก เกณฑ์บัญชีเค้าบังคับมางี้)
(2) ตั้งเป็นสินทรัพย์ทั้งก้อน(อย่างค่าความนิยม)แล้วตัดค่าเสื่อมเอา หรือ
(3) ตั้งเป็นสินทรัพย์มีมูลค่าตามความเหมาะสม(อย่างเช่น deferred tax) ดังนี้แล

(3)     มูลค่ามันอาจจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า ภาษาหรูๆก็ต้องเรียกว่า มันเกิดการด้อยค่าหรือเปล่า สังเกตว่าด้อยค่าได้ แต่มีมูลค่าสูงเกินกว่า historical cost ไม่ได้ เพราะเราคอน/เซอ/เว/ติ้ด/ซึ่ม (conservatism) ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น
-      สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงาน(operating asset)ทั้งหลาย เช่น ลูกหนี้(มันจะชักดาบหรือเปล่า) สินค้าคงเหลือ(มันจะขายไม่ออกหรือเปล่า) หรือเครื่องจักรทั้งหลาย(มันจะล้าสมัยจนผลิตอะไรก็ขายใครไม่ได้แล้วหรือเปล่า)
-      financial instrument ทั้งหลายเช่นพวกพันธบัตร หุ้นกู้ เงินลงทุนในบริษัทร่วม หุ้นที่ไปลงทุนเอาไว้
-      มูลค่าของบริษัทย่อยในต่างประเทศ

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่มักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ อย่างเช่น
(1)     ถ้าจ่ายตังค์ซื้อมาแล้วต้องคิดเป็นสินทรัพย์เสมอ
ไม่จริงนะเธอ ถ้าซื้อขี้มาแล้วใช้ไม่ได้ ขี้ก็คือขี้ ไม่ใช่สินทรัพย์นะเธอ

(2)     ถ้าจับต้องไม่ได้ ไม่คิดเป็นสินทรัพย์
ไม่จริงนะเธอ แบรนด์ของโค้กมันเป็นสินทรัพย์แน่ๆ แต่อาจจะวัดมูลค่าทางบัญชีได้ยากหน่อย แต่มันก็เป็นสินทรัพย์นะเธอ

(3)     ถ้าซื้อมาคิดเป็นสินทรัพย์ ถ้าสร้างเองไม่คิด
อันนี้ดูจะเกี่ยวกับพวกงานวิจัย คือประมาณว่า ถ้าซื้องานวิจัยมาแสดงว่ามันคงใช้ได้จริงแน่ๆเลยมองเป็นสินทรัพย์ แต่ถ้าพัฒนาเองมันถูกตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปตั้งนานแล้วเลยไม่รู้จะคิดเป็นสินทรัพย์ยังไง ซึ่งประเด็นมันคงไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่า งานวิจัยนั้นๆมันเกิดประโยชน์จริงหรือเปล่า

(4)     ราคาตลาดสำคัญเฉพาะสินทรัพย์ที่ตั้งใจจะขาย
อย่างเช่นพันธบัตรหรือหุ้นที่ถือยาวไม่คิดจะขาย หรือที่ดินไรงี้ที่บันทึกในงบที่ราคาทุน การบันทึกอะไรแบบนั้นจะทำให้ภาพรวมความอู้ฟู่ของบริษัทบิดเบือนไปได้

เป็นอันว่าจบบทที่สี่แค่นี้ เจอกันครั้งหน้าเป็นบทที่ห้า เรื่อง Liability & Equity Analysis เลยนะฮ้าฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น