วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Framework Overview - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 1

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามีPDFก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

ไล่ไปทีละบทนะครับ สามารถทำได้จนจบหรือเปล่านี่ไม่สัญญา - -;

เริ่มจากบทที่ 1 และรูปที่ 1

รูปนี้อธิบายภาพกว้างๆๆๆๆของตลาดทุนซึ่งประกอบด้วยภาคครัวเรือนที่มีเงินเก็บ(savings)และอยากนำไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน และภาคธุรกิจที่มีไอเดียเจ๋งๆ(business ideas)และอยากได้เงินมาลงทุน ตัวกลางที่เชื่อมสองส่วนนี้เข้าด้วยกันแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือตัวกลางด้านไฟแนนซ์(financial intermediaries)ที่นำเงินจากภาคครัวเรือนไปให้ภาคธุรกิจลงทุน เช่นพวกธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวมต่างๆ บริษัทประกันทั้งหลาย ส่วนประเภทที่สองคือตัวกลางด้านข้อมูล(information intermediaries) ซึ่งจะนำเอาข้อมูลต่างๆของภาคธุรกิจ(อันมีงบการเงินเป็นหลัก)มาย่อยๆๆแล้วส่งต่อให้ภาคครัวเรือน เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรเอาเงินเก็บอันทรงคุณค่าไปลงทุนที่ไหนดี ตัวกลางในกลุ่มนี้ก็เช่นพวกหนังสือพิมพ์หุ้น นิตยสารการลงทุนต่างๆ พวกผู้ตรวจบัญชีทั้งหลาย และพวกเรตติ้งเอเจนซี่

รูปต่อมาแสดงที่มาที่ไปว่ากว่าจะได้ออกมาเป็นงบการเงิน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ฝั่งซ้ายมือเป็นปัจจัยจากนอกบริษัท ฝั่งขวามือเป็นปัจจัยภายในบริษัทเอง ตรงกลางคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินโดยตรง ไล่กันเป็นลำดับ เริ่มจาก
·        บนซ้ายคือ business environment คือสภาพแวดล้อมที่บริษัททำธุรกิจอยู่ เช่นพวก ตลาดแรงงาน(หาควายคน) ตลาดทุน(หาเงิน) ตลาดสินค้า(ขายของ) กฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ
·        บนขวาคือ business strategy คือกลยุทธของบริษัทว่าจะทำธุรกิจยังไงดี ขายถูกขายแพง ขายหลายอย่าง ขายอย่างเดียว ขายคนรวย ขายคนจน ขายคนแปลกๆ เป็นต้น
·        business environment และ business strategy จะส่งผลออกมาว่า บริษัทจะทำกิจกรรม(ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมเข้าจังหวะ)อะไรบ้างในการทำธุรกิจ
·        ล่างซ้ายคือ accounting environment ว่าคือสภาพแวดล้อมในทางบัญชีว่าผู้คนข้างนอกที่จะเอางบการเงินไปใช้มีใครบ้าง(มั้ง) โดยมีตัวละครตั้งแต่นักลงทุนในตลาดทุน คู่สัญญาของบริษัท กรมสรรพากร ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น
·        ล่างขวาคือ accounting strategy กลยุทธการลงบัญชีของบริษัทว่าจะเลือกลงบัญชีแบบไหน เช่น ประมาณการเท่าไหร่ดี(มันมีตัวเลขต้องประมาณการในงบการเงินหลายตัวอยู่) หมายเหตุงบจะละเอียดไปเลยหรือแค่พอเป็นพิธี(เดี๋ยวเค้าจะรู้เยอะ) เป็นต้น
·        accounting environment  และ accounting strategy จะส่งผลกับระบบการออกงบการเงินของบริษัท(accounting system ที่อยู่ตรงกลาง) ว่าจะเลือกเอา  business activity ไหน วัดอย่างไร สรุปเป็นผลรวมหรือไม่อย่างไรระดับไหน แล้วคลอดออกมาเป็นงบการเงิน(financial statement)ทุกสามเดือนหกเดือนปีนึงให้เราๆท่านๆได้ปวดหัววิเคราะห์กัน

ลักษณะเด่นๆของ accounting system 3 เรื่องคือ
·        ใช้เกณฑ์คงค้าง(accrual) แทนเกณฑ์เงินสด(actual)
พูดง่ายๆคือ ตัวเลขที่เห็นในงบการเงิน(โดยเฉพาะงบกำไรขาดทุน)ไม่ได้เท่ากันเป๊ะกับเงินสดที่เข้าจริงออกจริง
·        มีมาตรฐานการบัญชีคอยบีบคออยู่
ซึ่งข้อดีคืองบการเงินของบริษัทต่างๆก็จะได้มาตรฐาน ไม่มั่วไปคนละแบบสองแบบ(แต่มั่วๆกันไปในแบบเดียวกัน 555) แต่ข้อเสียคือ บางครั้งงบการเงินก็ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของบริษัทได้100%
·        แต่บริษัทก็มีทางให้เลือกลงบัญชีได้(ภายในกรอบของมาตรฐานการบัญชี)
ซึ่งก็ต้องวัดใจกันเอาเองว่า เค้าจะเลือกวิธีลงบัญชีที่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน
ต่อมา อันนี้รูปสุดท้ายแล้ว รูปนี้คือภาพใหญ่ของการวิเคราะห์งบการเงิน อันประกอบด้วยสิ่งที่เราจะนำมาวิเคราะห์ซึ่งแน่นอนว่ามีงบการเงินเป็นหลัก และข้อมูลประกอบอื่นๆทั้งที่ได้จากวงนอกและวงใน และบวกกับจุดประสงค์ที่เราจะวิเคราะห์(ในฐานะนักลงทุน เจ้าหนี้ ผู้ตรวจบัญชี หรือกรมสรรพากร เป็นต้น) จากนั้น เมื่อเราได้หมูมาอยู่บนเขียง(คือมีงบการเงินแล้ว) และตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไรกินดี(รู้จุดประสงค์ในการวิเคราะห์)แล้ว เราก็เริ่มจาก
·        business strategy analysis คือรู้จักบริษัทก่อนว่าทำธุรกิจอะไรยังไง ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง key success factor มีอะไรบ้าง ในตลาดนั้นใครใหญ่ แล้วบริษัทอยู่ตรงไหน
·        accounting analysis คือรู้จักงบการเงินว่าคุณภาพมันดีมันเลวแค่ไหน ตัวเลขไหนต้องระวัง ตัวเลขไหนที่เราต้องคำนวณใหม่
·        financial analysis คือรู้อดีตและปัจจุบันว่ามันดีมันเลวแค่ไหน ดีขึ้นหรือแย่ลง
·        prospect analysis คือเดาอนาคตว่าแล้วมันจะไปยังไงต่อ
ผลที่ได้จาก business strategy analysis จะเป็นข้อมูลที่บอกให้เรารู้ว่า ในงบการเงินต้องระวังอะไร ต้องเน้นตัวเลขไหน แล้วตัวเลขในงบที่เห็นมันดีหรือเลว มันปกติหรือไม่ปกติ แล้วเราจะเอาอนาคตยังไงให้ใกล้เคียง

บทที่ 1 ก็จบประมาณนี้แล

1 ความคิดเห็น:

  1. พึงระลึกไว้ว่า
    1. สรุปจากหนังสือเก่าประมาณ10ปีที่แล้วมั้ง ตอนนี้อะไรหลายๆอย่าง(โดยเฉพาะกฏการลงบัญชี)ก็คงเปลี่ยนไป ถ้าจะช่วยอัพเดทให้ด้วยก็จะดีมาก
    2. คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชีมาจากไหน ผิดพลาดคลาดเคลื่อนตกหล่นตรงไหนก็กรุณาชี้แนะด้วยครับ
    3. การอ่านแล้วเชื่อเอาโดยไม่ใช้วิจารณญาณมีความเสี่ยง ลอกไปใช้แล้วสอบตกหรือขาดทุนขึ้นมา ไม่รับผิดชอบนะครับ
    4. คนสรุปไม่รับประกันว่าจะทำต่อเนื่องหรือทำสรุปจนจบเล่ม ห้ามเอาชีวิตมาผูกไว้กับซีรีย์นี้เด็ดขาด

    ตอบลบ