วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Entity Accounting Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 8

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้ว่าด้วยเรื่องของไอ้คำว่าบริษัทที่เราๆงัดแงะแกะงบกันมาจนถึงตอนนี้เนี่ย ขอบเขตของมันอยู่แค่ไหนบ้าง เอาแค่บริษัทเดี่ยวๆหรือรวมบริษัทย่อย บริษัทร่วมเข้ามาด้วย แล้วอันไหนถือเป็นบริษัทย่อย อันไหนถือเป็นบริษัทร่วม แล้วถ้ารวมจะรวมอย่างไร
เริ่มจากเรื่องบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมก่อน ปกติจะถือตามเกณฑ์ว่า ถ้าเราถือหุ้นของบริษัทนึงเกิน 50% เราก็จะมีอำนาจควบคุมบริษัทนั้นเด็ดขาด(ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้) ก็ให้ถือว่าเป็นบริษัทนั้นเป็นบริษัทย่อยของเรา แต่ถ้าถือหุ้นของบริษัทนั้นระหว่าง 20-50% เราอาจจะไม่ได้มีอำนาจควบคุมเด็ดขาด แต่อาจจะใช้อำนาจมืดจูงจมูกได้บ้าง อันนี้ก็ให้ถือว่าเป็นบริษัทร่วม แต่ถ้ามีหุ้นต่ำกว่า20%อีกก็ไม่ต้องมาพูดกัน
ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ว่า(แน่ล่ะ ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาอะไรก็ไม่มีบทนี้สิ)
(1)     ถ้าเรามีหุ้นต่ำกว่า50%หรือ20% แต่แอบมีอำนาจควบคุมเด็ดขาดหรือชี้นำได้ล่ะ (เช่นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นจริงๆแล้วเป็นคนใช้ของเราเอง เป็นต้น)
ปกติแล้วถ้าเรามีอำนาจเด็ดขาดเหนือบริษัทนึง(เช่น ถือหุ้นเค้ามากกว่า50% แต่ก็ให้ยึดตามความเป็นจริงว่าบางครั้งเราอาจจะถือหุ้นต่ำกว่า50%แต่มีอำนาจควบคุมเด็ดขาดก็ได้) เกณฑ์บัญชีให้รวมงบการเงินของบริษัทนั้นเข้ามาเลย โดยอาจจะใช้วิธี pooling-of-interest หรือ purchase method ก็ได้
แต่ถ้าเราไม่ถึงกับมีอำนาจเด็ดขาดขนาดสั่งซ้ายหันขวาหันแต่ก็พอจะสามารถชักใยอยู่เบื้องหลังได้ (เกณฑ์บัญชีว่าถือหุ้นเค้า20-50% แต่ก็ให้ยึดตามความเป็นจริงนะว่าอาจจะถือหุ้นต่ำกว่า20%แต่ชี้นำได้ก็โอเค) อันนี้ให้ใช้วิธี equity method คือให้แสดงแค่ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทนั้นเข้ามาในงบกำไรขาดทุน(ที่มักจะเขียนว่าส่วนแบ่งกำไรในบริษัทร่วมละมั้ง) ส่วนในงบดุลก็แสดงแค่ราคาทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นมาบวกกับส่วนแบ่งกำไรสะสมที่ได้ตั้งแต่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นมา
(2)     บางครั้งมันก็ยากที่จะตัดสินใจได้ว่าใครควบคุมใครกันแน่ (เช่นกรณีที่ลงทุนกันครึ่งๆ เป็นต้น)
ในกรณีที่ร่วมทุนกันครึ่งๆคงยากที่จะฟันธงได้ว่าใครซื้อใครกันแน่ อันนี้ก็ใช้วิธีง่ายๆแบบ pooling-of-interest  คือบวกตัวเลขในงบการเงินแต่ละตัวกันซื่อๆเลย ง่ายดี แต่ถ้าพอรู้ว่าใครซื้อใครเข้ามา เค้าว่าให้ใช้ purchase accounting คือรวม equity ของบริษัทที่เราไปซื้อเค้ามาเนี่ยในราคาตลาด แล้วส่วนต่างที่เราจ่ายแพงกว่าราคาตลาด(เพราะอยากได้มาก) ก็ให้แสดงเป็นค่าความนิยมในงบการเงินซะ ซึ่งค่าความนิยมนี่ก็จะถูกตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายไปตลอดช่วงระยะเวลากี่ปีก็ว่ากันไป หรืออาจจะถูกwrite-offก็ได้ถ้าพิจารณาแล้วว่ามันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้มากมายเหมือนที่คิดไว้ตอนตัดสินใจซื้อ
อืม เหมือนว่าเกณฑ์บัญชีกำหนดไว้ละเอียดเหมือนกันว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้วิธี pooling-of-interest คร่าวๆก็ประมาณว่าเมื่อสองบริษัทนั้นดำเนินงานเป็นเอกเทศต่อกันมาไม่ต่ำกว่าสองปีก่อนจะมารวมกัน และซื้อขายโดยการแลกหุ้นกัน หลังจากรวมกันแล้วสิทธิ์การโหวตและการรับเงินปันผลไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีการขายสินทรัพย์หลักๆภายในสองปีหลังจากรวมกันแล้ว ประมาณนี้แหละ
(3)     บางครั้งบริษัทสองบริษัทมันร่วมทุนกันแบบอีนุงตุงนังมากจนไม่รู้ว่าใครควบคุมใคร
เช่นกรณีของ joint venture เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างในหนังสือยกเคสของบริษัท Dura กับ Spiros II มาให้ดู แต่อ่านแล้วงงมากเลยไม่ขอลงรายละเอียด (T T) แต่โดยสรุปคือให้ดูอำนาจควบคุมกันเองละกันนะว่าใครน่าจะสามารถควบคุมใครได้ - -;
อีกกรณีนึงคือเรื่องของฟรานไชส์ นึกง่ายๆก็ร้านเซเว่นที่ขายฟรานไชส์การเปิดสาขาให้เถ้าแก่หน้าปากซอย โดยเซเว่นจะสอนทุกสิ่งอย่างให้ ให้ใช้เครื่องหมายการค้าของเซเว่นได้ ส่งสินค้าให้ด้วย แต่เถ้าแก่ต้องจ่ายค่าแรกเข้า จ่ายส่วนแบ่งรายได้ และต้องปฏิบัติตามกฏข้อบังคับของเซเว่นอย่างเคร่งครัดด้วยนะ (ประมาณนี้มั้ง ไม่เคยทำจริง โปรดอย่าถามในรายละเอียด) ทีนี้ประเด็นทางบัญชีคือ แล้วเซเว่นใหญ่มีอำนาจควบคุมเหนือเซเว่นหน้าปากซอยหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องรวมงบนะ(ซวยละ) อืม แต่ข้อสรุปตอนนี้เหมือนว่ายังไม่ต้องรวมงบ แต่ให้มองว่าค่าแรกเข้าเป็นรายได้ซึ่งจะนับเป็นรายได้ก็ต่อเมื่อเซเว่นหน้าปากซอยเปิดให้บริการแล้วอย่างสมบูรณ์ ประมาณนี้แล (จริงไม่จริงต้องลองไปแกะงบCPALLดู น่าจะมีเขียนไว้ละเอียด)
(4)     กรณีที่บริษัทมีหลาย business unit (ขอเรียกสั้นๆว่าBUนะ)
อย่างพวกปูนซีเมนต์ไทยที่มีBUขายปูน ขายกระดาษและปิโตรเคมี(หรือเปล่านะ) หรือไมเนอร์ที่มีทั้งโรงแรมกับร้านอาหาร ในกรณีนี้ บริษัทอาจจะใจดี แสดงผลประกอบการแยกตามBUให้ด้วย นักลงทุนเม่าๆอย่างเราๆก็อาจจะอยากรู้ว่า เอ๊ segment ขายเครื่องเขียนของบริษัทAกับบริษัทBนี่ ใครเจ๋งกว่ากันนะ แต่ว่าการจะเปรียบเทียบระหว่างBUในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่คนละบริษัทนี่ก็ทำได้ยากอยู่ เพราะ
-         วิธีการแบ่งsegmentอาจจะไม่เหมือนกันเลย
-         บริษัทอาจจะยอมให้segmentนึงได้เปรียบกว่าอีกsegmentนึงเพื่อไม่ให้มันขาดทุนมากจนน่าเกลียด
-         บริษัทอาจจะมีsegmentที่ให้บริการทางการเงินเช่นพวกปล่อยกู้หรือประกันซึ่งมีkey ratioแตกต่างจากsegmentอื่นๆที่ขายของหรือผลิต  ดังนั้น การconsoงบของfinancial segmentพวกนี้เข้ามาในงบของบริษัทแม่จะทำให้ภาพรวมของบริษัทแม่บิดเบือนไปได้
-         มันอาจจะมีรายการระหว่างBUในบริษัทเดียวกันซึ่งทำให้BUนึงซึ่งอาจจะกดราคาต้นทุนจากฝ่ายการผลิตของบริษัทA ทำให้BUของบริษัทAได้เปรียบกว่าBUของอีกบริษัทนึงที่ไปซื้อของจากข้างนอกมาขาย นี่ก็เป็นไปได้

จบแล้วสำหรับส่วนของ Accounting Analysis ที่แสนจะน่าเบื่อ ต่อไปจะเป็น...แต่น แตน แต๊น... เรื่อง Financial Analysis แล้ว เย้ๆๆๆ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Rakesh Jhunjhunwala’s tips on how to find multibagger stocks

ก้อปปี้มาจาก Facebook ของ"เจาะแก่นVI"
https://www.facebook.com/johkanvi/posts/648208171892502:0

มีใครรู้จัก Rakesh Jhunjhunwala ใหมครับ เขาถูกขนานนามว่าเป็น Warren Buffet India
จากเงินลงทุนในคร้งแรก ปี 1985 ตอนนี้เขามีทรัพย์สินมากกว่า 1000 ล้านเหรียญ จากการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของเขา
นิตยสาร Forbes ปี 2010 เขาติดอันดับคนที่รวยที่สุดในอินเดีย อันดับ 51 และ อันดับโลกที่ 1062
ผมมีบทความของเขามาฝาก เรื่อง เทคนิคการมองหาหุ้นหลายเด้ง
Rakesh Jhunjhunwala’s tips on how to find multibagger stocks

Tip No. 1: Don’t Look For Multi-baggers
เขียนไม่ผิดครับ เทคนิคแรกสำหรับการมองหาหุ้นสิบเด้ง ก็คือ อย่ามองหาหุ้นสิบเด้ง อิอิ งงไหม
Rakesh บอกว่า อย่าปักธงว่าเราจะมองหาและเลือกลงทุนในหุ้น 2 เด้ง 3 เด้ง 10 เด้งเท่านั้น สิ่งที่ดีกว่าคือ 
การกลับไปใช้วิธีการลงทุนแบบดั้งเดิมยึดหลักของปรมาจารย์ทั้งหลาย อาทิ Benjamin Graham,Peter Lynch และ Warren Buffet
การบ้านที่คุณต้องทำก็คือ เลือกลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี และมีการเติบโตในอนาคต พอร์ตของหุ้นก็จะเติบโต
หลายเด้งเองเมื่อเวลาผ่านไป

Tip No. 2: Don’t Look for Profits; Look For Sources Of Profits
อย่ามองที่กำไร จงมองหาแหล่งที่มาของกำไร

Rakesh ให้ข้อคิดที่ว่านักลงทุนทั่วไป มักจะยึดติดเกินไปกับยอดขายและกำไรรายไตรมาสและ
สนใจกำไรในระยะสั้นๆ อาจทำให้เราหลุดจากการมองภาพใหญ่ได้ ("That’s missing the wood for the trees")
Rakesh แนะนำว่า "Look at the sources of Profits. What are the reasons that will give rise to Profits in the medium and long-term term". 
"Look at the factors and circumstances that will create an opportunity for business in the sector".

Tip No. 3: Forget ‘Large Cap, Small Cap’ Nonsense – Look For Scalability Of Operations: 
ลืมหุ้นใหญ่ ลืมหุ้นเล็กซะ ไร้สาระ! จงมองหาสิ่งที่มันขยายได้

Rakesh ให้ข้อคิด 2 อย่าง อย่างแรก นักลงทุน นักวิเคราะห์ ทั่วไปมักจะถกเถึยงกันถึงว่า หุ้น large cap
mid cap,small cap อันไหนดีกว่ากัน แต่ Rakesh บอกว่า 
"Forget all that and Look for Value" . "If there is value in Large Cap, buy it. If there is value in Small Cap, buy it. But don’t obsess on irrelevant matters", 

Tip No. 4: Give it Time, Be Patient:
จงอดทนและให้เวลากับมัน

นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เช่น Warren Buffet เคยบอกว่า
ระยะเวลาที่เราชอบในการถือครอง (หุ้น ) คือตลอดไป" Rakesh ก็เช่นเดียวกัน แนะนำว่า
"Give your investments time to mature. Be Patient for the World to discover your gems". 

Tip No. 5: Don’t get carried away by short-term aberrations:
อย่าใส่ใจมากนักกับการเบี่ยงเบนระยะสั้น

นักลงทุนทั่วไปมักสนใจแนวโน้มระยะสั้น เช่นผลประกอบการรายไตรมาส Rakesh ตรงข้ามไม่ให้ความสนใจ
มากนักกับผลประกอบการรายไตรมาส ส่งที่เขาจะทำคือ การมองหา trend.
ผลประกอบการรายไตรมาส จะบ่งขอกถึง trend ว่าอย่างไร

Tip No. 6: Invest in a business that you can understand:
จงลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจ

เหมือน vi ท่านอื่น คือเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจที่เราเข้าใจเท่านั้น

Tip No. 7: Don’t worry about the macro stuff like fiscal deficit, inflation etc which are unknowable. Focus on what is knowable:
อย่ากังวลกับปัจจัยมหภาคมากนัก เช่น การขาดดุลการคลัง เงินเฟ้อ อื่นๆที่ไม่สามารถรู้ได้ จงสนใจกับสิ่งทีสามารถรู้ได้

Rakesh แนะนำว่า อย่าสนใจกับสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้ หรือแม้นว่ารู้แล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่จงมุ่งมั่นทุ่มเทพลังงานของคุณทั้งหมด
ไปกับสิ่งที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ดีเพียงพอ เช่นธุรกิจของบริษัทที่คุณลงทุน

Tip No. 8 : Don’t Try To Time The Market: 
อย่าจับจังหวะตลาด

อย่าจับจังหวะตลาด เพราะคุณจะไม่สามารถหาจุดต่ำสุดของตลาดได้
ถ้าคุณหาหุ้นที่ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าแท้จริง ซื้อมันซะ!

Tip No. 9 : If it’s cheap, buy it- Don’t pass up something cheap today in the hope that it will get cheaper tomorrow:
ถ้ามันถูกก็ซื้อมันซะ อย่าปล่อยสิ่งที่คิดว่าถูกวันนี้โดยคาดหวังว่ามันจะถูกกว่าในวันพรุ่งนี้

ถ้าคุณเห็นโอกาสในวันนี้ จงคว้ามันไว้ซะ! โอกาสดีเยี่ยมหลายครั้งหลุดลอยไปเพียงเพราะการผลัดวันประกันพรุ่ง

Tip No. 10 : Don’t buy stocks that have a fixed return:
อย่าซื้อหุ้นที่มีรายได้คงที่

คำแนะนำอันนี้ ตอนแรกดูเหมือนน่าขำ เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อหุ้นที่อยู่กับที่หรอก
แต่พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่กับมองข้ามข้อแนะนำอันนี้ Rakesh ยกตัวอย่างของหุ้นพวกนี้เป้นพวกหุ้น
ของพวกบริษัทเช่นพวกขายไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภค ที่ไม่สามารถที่จะมีกำไรมากกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น

Tip No. 11: Ride your winners!!
ปล่อยให้หุ้นวิ่งทำกำไร

Rakesh แนะนำว่า อย่าขายหุ้นสิบเด้งของคุณทิ้งไปเพียงเพราะคุณคิดว่าหุ้นสิบเด้งของวันนี้จะไม่สามารถเป็นหุ้นยี่สิบเด้งได้ในวันพรุ่งนี้

Tip No. 12: Concentrate, concentrate & concentrate!!
มุ่งมั่น มุ่งมั่น และ มุ่งมั่น

เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักลงทุนว่าการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงแบบไข่ในตะกร้าหลายใบหรือตะกร้าใบเดียว
อันไหนดีกว่ากัน Rakesh เป็นพวกที่เน้นแนะนำให้ลงทุนที่เรามั่นใจเท่านั้นว่าจะมีผลตอบแทนดีกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ไม่สนใจการกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายตัวเพียงเพราะต้องการปกป้องพอร์ต

ขอบคุณข้อมูลจากคุณ KOTARO web Thaivi.org // นักเจาะแก่นเบอร์9

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Expense Analysis - สรุปความจากหนังสือ Business Analysis & Valuation บทที่ 7

ชื่อเต็มๆคือ Business Analysis & Valuation Using Financial Statements ตำราเทพของอาจารย์Palepu, Healy และ Bernard

เล่มที่อ่านเป็น Second Edition ซึ่งมันก็เก่าประมาณนึงแล้ว (ตอนนี้มันปาไปจะ 5th Edition แล้ว ถ้ามี PDF ก็ขอด้วยนะ จุ้บๆ) เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดทบ้างอะไรบ้าง คนสรุปก็ไม่ได้เก่งบัญชี ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคร้าบ

บทนี้เป็นเรื่องของExpense Analysis ซึ่งเกี่ยวกับงบการเงินในส่วนของค่าใช้จ่าย ซึ่งเราจะบันทึกภายใต้เกณฑ์การmatchingและconservatism แจกแจงเป็น3กรณีย่อยๆคือ
(1) ถ้าเราสามารถmatchค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่เกิดขึ้นในงวดนั้นได้ก็บันทึกซะในงวดเดียวกัน ตัวอย่างง่ายๆก็เช่นต้นทุนในการผลิตหรือซื้อสินค้ามาขายกับรายได้ของสินค้า
(2) ค่าใช้จ่ายซึ่งจับmatchกับรายได้ตรงๆไม่ได้ แต่เป็นค่าใช้จ่ายรวมๆที่เกิดขึ้นระหว่างงวด เช่นค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด ก็ให้บันทึกซะในงวดนั้นแล
(3) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ เช่นสินค้าคงคลังที่ล้าสมัยขายไม่ได้แล้ว หรือสินค้าพวกเนื้อหรือผักที่เน่าเสียต้องทิ้งไป พวกนี้ก็บันทึกซะในงวดที่มันเกิดขึ้น

ประเด็นที่จะเกิดขึ้นเมื่อรับรู้ค่าใช้จ่ายก็ได้แก่
(1)     ถ้าเราซื้อสินทรัพย์เข้ามาแล้วมันใช้ประโยชน์ได้ข้ามปีข้ามชาติ จะบันทึกค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์นั้นยังไง
อันนี้เกณฑ์บัญชีบอกว่า ถ้ามั่นใจว่าสินทรัพย์นั้นมีอายุการใช้งานที่แน่นอน ก็เอาค่าใช้จ่ายในการได้สินทรัพย์นั้นมากระจายตามจำนวนปีแล้วตัดจ่ายเอาซะ(เป็นค่าเสื่อมราคา/ค่าตัดจำหน่ายก็ว่าไป) แต่ถ้าไม่ชัวร์ก็ให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อนไปซะทีเดียวเลย ฟังดูเหมือนง่าย แต่ทีนี้มันก็ต้องตั้งสมมุติฐานในหลายๆเรื่องเช่น อายุการใช้งานจะกี่ปีดีล่ะ แล้วหลังจากหมดอายุการใช้งานแล้ว จะมีมูลค่าซากเท่าไหร่ดีล่ะ(ประมาณว่าหมดอายุการใช้งานแล้วยังเอาไปชั่งกิโลขายต่อได้) แล้วจะตัดจ่ายยังไงดีล่ะ (จำนวนเงินเท่าๆกันทุกปี หรือจะคิดเป็น%ต่อมูลค่าที่เหลืออยู่ หรืออื่นๆ) ซึ่งอายุการใช้งานที่ประมาณการก็ควรจะสอดคล้องกับกลยุทธของบริษัทด้วยนะ ตัวอย่างในหนังสือเช่นสายการบินเดลต้าที่ตั้งอายุการใช้งานเครื่องบินไว้ 25 ปี ในขณะที่สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตั้งไว้แค่ 10 ปีก็เพราะสายการบินสิงคโปร์มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ป๋ากว่า ยอมจ่ายได้ เลยใช้เครื่องบินใหม่กว่า แต่สายการบินเดลต้ามีกลุ่มลูกค้าเป็นคนที่เค็มกว่า ยอมจ่ายถูก ห่วยหน่อยก็ได้ เลยใช้เครื่องบินเก่าๆได้ อะไรประมาณนี้
ยังมีเรื่องของค่าความนิยมอันเกิดจากเราไปซื้อบริษัทอื่นมาในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ประเมินได้ (คือยอมจ่ายแพงเพราะเรารวยเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในระยะยาว อันนี้เกณฑ์การบัญชีจะแตกต่างกันไปเพราะความชัดเจนเรื่องประโยชน์ในระยะยาวมันคลุมเครือกว่าพวกโรงงานหรือเครื่องจักร บางที่ก็ให้ตัดจ่ายทั้งก้อน บางที่ก็ให้ตัดจำหน่ายข้ามปีข้ามชาติได้ บางที่ก็ให้บันทึกเป็นสินทรัพย์ไปเลยแล้วค่อยตัดเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดด้อยค่า ในความเป็นจริงแล้วการซื้อบริษัทอื่นเข้ามาแล้วจะเกิดประโยชน์หรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับว่าบริษัทผู้ซื้อประเมินมูลค่าได้แม่นแค่ไหน ต่อรองเก่งแค่ไหน ซื้อเค้ามาแล้วรวมกันได้เนียนมั้ย(หรือแทนที่จะทำงานด้วยกันดีๆกลับมาทะเลาะตบตีกันให้วุ่นวายมั้ย) และใช้ประโยชน์เค้าได้คุ้มค่าหรือไปทำลายมูลค่าของเค้าหรือเปล่า(เช่นไปยุ่มย่ามก้าวก่ายจนวัฒนธรรมองค์กรหรือวิธีการทำงานดีๆที่เราอยากได้นั้นพังพินาศไปหมดสิ้น) เรื่องเหล่านี้มันก็ดูยากอยู่ แต่จากการวิจัยแล้ว ส่วนใหญ่จะทำหน้าใหญ่ใจโต จ่ายแพงเกินจริงทั้งนั้น
อีกกรณีนึงคือพวกค่าใช้จ่ายในการทำR&D ซึ่งจริงๆแล้วถึงแม้ประโยชน์มันจะไม่แน่นอน(งานวิจัยบางอันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหรืออาจจะขายไม่ได้) แต่ถ้าวิจัยแล้วโดน เกิดขายได้ขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาวเหมือนกัน อันนี้เกณฑ์บัญชีส่วนใหญ่จะบังคับให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายเลย แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่นถ้าเป็นงานวิจัยที่ซื้อเค้ามาให้บันทึกเป็นสินทรัพย์ก่อนแล้วค่อยตัดจ่ายได้(คงคิดว่ามันใช้งานได้แน่ๆละมั้ง) หรือถ้าเป็นงานพัฒนาซอฟต์แวร์ก็อนุญาตให้บันทึกเป็นสินทรัพย์แล้วตัดจำหน่ายได้ อะไรทำนองนี้
เรื่องค่าใช้จ่ายในการโฆษณาก็ตกชะตากรรมเดียวกับR&D คือถึงแม้จะเกิดประโยชน์(เป็นการสร้างแบรนด์)ให้บริษัทในระยะยาว แต่เนื่องจากประโยชน์นั้นวัดเป็นตัวเงินไม่ได้แน่ชัด ส่วนใหญ่ก็เลยโดนบังคับให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปทั้งก้อนเช่นกัน
(2)     ค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่สามารถระบุเวลาและตัวเงินแน่นอนได้ ขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่นพวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน จะบันทึกยังไง
ส่วนใหญ่ก็ประมาณการเอาแล้วก็ตัดจำหน่ายอ่ะนะ ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง(แน่ล่ะนะ ไม่ใช่หมอดูอีทีนิ) แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่บันทึกอะไรเลยแล้วมาเซอร์ไพรส์กันตอนหลังล่ะนะ

(3)     ค่าใช้จ่ายบางอย่างประเมินมูลค่าได้ยาก จะบันทึกยังไง
เช่นต้นทุนของสินค้า(ที่นึกว่าจะง่าย)ก็มีประเด็นอีก เช่นถ้าซื้อเข้ามาหลายๆล็อตด้วยราคาต่างกัน เวลาขายจะใช้ราคาไหนเป็นต้นทุน เพราะมันจะมีผลกับตัวเลขกำไรโดยตรง หรือถ้าผลิตสินค้าเอง ล็อตที่ผลิตเยอะก็จะมีต้นทุนต่ำกว่าล็อตที่ผลิตน้อย ในกรณีที่เรารู้ต้นทุนของสินค้าแน่ชัด เพราะสินค้าเช่นพวกรถยนต์มีรหัสที่ทำให้สามารถระบุได้ว่าซื้อเข้ามาเมื่อไหร่หรือผลิตล็อตไหน อันนี้ก็ไม่มีประเด็น แต่ถ้าไม่สามารถระบุต้นทุนได้ชัดเจน ก็ให้ตั้งสมมุติฐานไปเลยว่าจะคิดต้นทุนแบบFIFOคือคิดซะว่าเอาอันที่ซื้อ/ผลิตก่อนขายออกไปก่อน หรือจะแบบLIFOคือเอาคิดซะว่าเอาอันที่ซื้อ/ผลิตทีหลังขายออกไปก่อน (ป.ล.ว่าอันนี้เป็นแค่วิธีคิดในงบการเงินนะครับ ไม่ได้เกี่ยวว่าตอนทำงานจริงต้องไปหยิบของเก่าหรือของใหม่มาขาย ขืนทำงั้นจริงนี่วุ่นวายตายเลย) สองวิธีนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เพราะปกติแล้วต้นทุนของสินค้าที่ผลิตทีหลังมักจะสูงกว่าด้วยผลของเงินเฟ้อ ดังนั้น ถ้าคิดแบบFIFOจะได้กำไรมากกว่า(เพราะต้นทุนสินค้าในอดีตมันต่ำ แต่ขายราคาปัจจุบัน บิดเบือนงบการเงินอีก) แต่มูลค่าสินค้าคงคลังจะใกล้เคียงความจริงกว่า แต่ถ้าคิดแบบLIFOก็กลับข้างกัน หรือจะตัดสินใจใช้ทางเลือกที่3คือหาต้นทุนเฉลี่ยของแต่ละงวดเลยก็ไม่มีใครว่า อันนี้ก็แล้วแต่จะกำหนด สำคัญคืออย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาละกัน
ป.ล.ขำๆ มีแบบที่สามด้วยเรียกว่าFISH ย่อมาจาก First In Still Here คือมันขายไม่ออก 555
stock optionก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในกรณีนี้ เนื่องจากมันเป็นการให้สิทธิ์ผู้บริหารซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ถ้าผู้บริหารทำงานดี บริษัทได้กำไรเยอะ ราคาหุ้นขึ้นสูงกว่าราคาoption ผู้บริหารก็ซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่าตลาด ก็จะได้กำไรส่วนต่างนั้นไป ก็ถือเป็นการให้รางวัลผู้บริหารตามความสามารถอ่ะนะ แต่ทีนี้ก็มีปัญหาว่าบริษัทจะมีต้นทุนหรือเปล่าในกรณีนี้(ก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงินนี่นะ) แล้วถ้ามีจะบันทึกเมื่อไหร่และเท่าไหร่ดี คำตอบคือให้คิดต้นทุนส่วนต่างของราคาหุ้นในตลาด(หรือfair valueของหุ้นก็ได้ สุดแท้แต่จะหามายังไง)กับราคาซื้อของoption แล้วตัดจำหน่ายต้นทุนนั้นตลอดอายุของoptionครับ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(4)     การด้อยค่าของสินทรัพย์ จะประเมินยังไง
ปกติการบันทึกสินทรัพย์จะยึดหลักconservatism คือถ้ามันด้อยค่าให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นห้ามบันทึกเป็นรายได้(อ้าว) ทีนี้เรารู้ได้ไงว่ามันด้อยค่าแล้วและเท่าไหร่ อันนี้ก็แล้วแต่ผู้บริหารจะเห็นสมควรเลยครับ แต่ก็มีบ่อยๆที่บริษัทขาดทุนครั้งใหญ่ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ประมาณการสินทรัพย์ให้มันด้อยค่าไปด้วยกันเลยละกัน (ขาดทุนซะให้คุ้ม) เผื่องวดหน้าพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ก็จะดูหวือหวาน่าซื้อดี
ข้างบนนั่นเป็นเรื่องของสินทรัพย์ในการดำเนินงานเช่นพวกเครื่องจักรไรงี้ ส่วนสินทรัพย์ทางการเงินก็มีด้อยค่าเหมือนกัน เช่นพวกหุ้นที่ถือเอาไว้นี่เห็นชัด ราคาหุ้นตกก็ด้อยค่าแล้ว หรือพวกพันธบัตรนั่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป พันธบัตรที่เราถืออยู่ก็ด้อยค่า(เพราะมีพันธบัตรออกใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า) อันนี้จะบันทึกด้อยค่าหรือเปล่าก็ขึ้นกับเจตจำนงในการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ วิธีการบันทึกก็จะแตกต่างกันไป เช่นว่าถ้าถือแทนเงินสดและกะจะขายได้ทุกเมื่อก็ให้บันทึกทั้งrealizedและunrealized gain/loss ถ้าถือแบบเผื่อขาย(available for sale)ก็ให้บันทึกrealized gain/lossในงบกำไรขาดทุนและunrealized gain/lossในรายได้อื่นๆ หรือถ้าตั้งใจจะถือจนครบอายุ(hold to maturity)ก็ให้บันทึกเป็นราคาทุนและrealized gain/lossในงบกำไรขาดทุน (ว่าแต่ว่าเกณฑ์บัญชีเรื่องนี้มันเปลี่ยนหรือยังนะ ลองเช็คกันเอาเองแล้วบอกด้วยถ้ามีเปลี่ยน)
ก็เป็นอันจบเรื่องค่าใช้จ่ายแต่เพียงเท่านี้ สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า การประมาณการพวกนี้ก็เป็นจุดวัดใจเพราะบริษัทมีข้อมูลวงในที่สามารถประเมินให้ใกล้เคียงความจริงได้ แต่ก็มีแรงจูงใจหลายๆอย่างให้ทำตัวเลขหลอกกันได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายบางอย่างที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาวให้บริษัทได้ แต่ถูกเกณฑ์ทางบัญชีบังคับให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน เช่นพวกค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย R&D หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด(สร้างแบรนด์ซึ่งจะช่วยให้ขายสินค้า/บริการได้ในระยะยาว แต่กี่ปีไม่รู้ล่ะ) พวกนี้ก็ทำให้งบการเงินสะท้อนภาพที่คลาดเคลื่อนของบริษัทได้ ดังนั้น พึงใช้ความระมัดระวังในการอ่านงบการเงิน (จริงๆก็สรุปแบบนี้ได้เหมือนกันทุกบทแหละ)

บทต่อไปเป็นส่วนสุดท้ายของ Accounting Analysis แล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Entity Accounting Analysis หลังจากนี้เราจะไปส่วนที่หวือหวาน่าสนใจกว่าคือเรื่อง Financial Analysis และ Valuation เย้ๆๆๆ